top of page

คุณค่าของชีวิต












มนุษย์สร้างมายาให้กับชีวิต

เขาหลงเข้าไปในมายานั้น

และรำพันว่า

"นี้คือความสุข

นี่คือความทุกข์"


- จากหน้าเฟซบุ๊ก: จำนงศรี หาญเจนลักษณ์ Chamnongsri Hanchanlash ป้าศรี -



หากให้มองตัวเองในวัย 74 ปี ตอนนั้นคุณจะกำลังทำอะไร สำหรับสตรีสูงวัยท่านหนึ่ง เธอมักได้รับเชิญไปให้ความรู้เรื่องคุณภาพความแก่และคุณภาพความตาย และยังคงมีกิจกรรมอีกมากมายในชีวิตประจำวัน การเคลื่อนผ่านวันและวัยที่ยาวนาน ทำให้คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน)หาญเจนลักษณ์ หรือป้าศรี มีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ แต่เจ้าตัวกลับบอกว่า


"โอย...ตอบไม่ถูกว่าตรงไหนที่น่าสนใจ เรื่องราวชีวิตมากมาย ขึ้นก็มาก ลงก็ดิ่งสุดๆ (หัวเราะ) เพื่อนใน เพซบุ๊กรุ่นลูกคนหนึ่งใช้คำว่า 'ฟ้ากับเหว' ผ่านมันมายังไงหรือคะ ก็จัดการไปตามสติปัญญาเท่าที่มีในตอนนั้นๆ แล้วก็ใช้อารมณ์ขัน มาเป็นคนนี้ในวันนี้ ก็เพราะ 'ฟ้ากับเหว' ในชีวิตนี่แหละ 'เหว' เป็นห้องเรียนที่ดีกว่า 'ฟ้า' ยิ่งสาหัสยิ่งเรียนรู้ได้มาก"


THE WISDOM: ที่คุณหญิงบอกว่าสาหัสนั้นเป็นอย่างไร


คุณหญิงจำนงศรี: มีที่สาหัสทั้งในเรื่องส่วนตัวและอื่นๆ ขอไม่เล่าเป็นเรื่องๆ ได้ไหม มันจะยาว และรู้สึกว่าอะไรมันผ่านไปแล้วก็ผ่านไป เอาว่าครั้งที่สาหัสสุดนั้น รู้สึกว่าไม่มีทางออกนอกจากจะเป็นบ้าไปเลยหรือตาย แต่ตอนนี้มองกลับไป เอ๊ะ มันเรื่องของฉันเหรอ หรือของใครก็ไม่รู้ ไม่มีอารมณ์เกี่ยวข้องด้วยเลย (หัวเราะ) อิสระดีนะ ความแก่ดีอย่างนี้แหละ


ชีวิตมันเริ่มจากความคาดหวังโน่นนี้ ก็เคยคาดหวังกับชีวิตกับความรัก กับสารพัด คาดหวังแล้ว ก็แค่สมหวังกับผิดหวัง ไม่คาดหวังก็ไม่มีทั้ง 2 อย่าง

ป้าศรีแต่งงาน 2 ครั้ง ครั้งแรกอายุ 23 ครั้งที่สองอายุ 57 แตกต่างชัดเลย ครั้งหลังนี่ เราอายุมาก คู่สมรสตายจากทั้งคู่ ผ่านกันมาหมดแล้ว ไอ้ความคาดหวังว่าจะ "มีความสุขในชีวิตคู่ตลอดไป" นั่นของหนุ่มสาวเขา (หัวเราะ) ของเรานี้ "ไม่แน่นอน" เบียด "ตลอดไป" ตกสารบัญไปเรียบร้อย


THE WISDOM: แต่คนที่อยู่กับเราก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ดั่งใจเราไปเสียทุกอย่าง


คุณหญิงจำนงศรี: ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็แหม..โลกไม่ได้มีไว้เอาใจตัวเราซึ่งเป็นแค่หน่วยเล็กจิ๋วๆ ในระบบธรรมชาติทั้งหมด การอยู่ด้วยกันเป็นคู่นี่ แต่ละคนหล่อหลอมมาแตกต่างกัน จะไปเอาอะไรนักหนาจากคนอื่น ตัวเองทำให้ได้อย่างใจตัวเองไปทุกเรื่องยังไม่ได้เลย การแต่งงานใกล้วัยทองนี่ก็ดีนะ แต่ละคนมีความพร้อมในระดับหนึ่งจากประสบการณ์ชีวิต ยอมรับความเป็นไป ที่อยู่นอกความสามารถควบคุมของเรา เราอยู่ด้วยกันอย่างสบายและสนุก คุยกันเถียงกันได้ เถียงกันเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างคนต่างหูเริ่มเสื่อม (หัวเราะ)


THE WISDOM: จะเรียกว่าคุณหญิงเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่ประสบความสำเร็จได้หรือไม่


คุณหญิงจำนงศรี: เอ๊ะ...ทำไมใครมาสัมภาษณ์ก็ถามเรื่องความสำเร็จนี่ทุกที ก็ถามตัวเองนะว่าชีวิตเราประสบความสำเร็จหรือเปล่า คำตอบจากใจคือ "ไม่รู้" ถามต่อว่าทำไมไม่รู้ คำตอบจากใจอีกนั่นแหละคือ "เพราะไม่รู้ว่าความสำเร็จหมายถึงอะไร" มันคือ "ไม่ล้มเหลว" จากเป้าที่คนอื่นคาดหวังหรือ ก็เลยมาคิดว่าเราประสบความสำเร็จมั้ง ในเมื่อคนที่มาสัมภาษณ์ถามอย่างนี้ คงต้องเชื่อที่ Emily Dickinson เขียนว่า คนที่ล้มเหลวเท่านั้น ที่จะซื้งถึงรสหวานของความสำเร็จ


Success is counted sweetest

By those who ne'er succeed.

To comprehend a nectar

Requires sorest need.


แต่ใครที่ติดรสนั้น ชีวิตคงจะไม่หวาน เพราะจะยึดมันไว้จนน่าสงสาร


THE WISDOM: ถึงกระนั้นคุณหญิงก็ยังได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ อยู่เสมอ


คุณหญิงจำนงศรี: ไปพูด แต่พูดเสมอว่าไม่มีใครเรียนรู้จากคนอื่นได้จริงหรอก ฟังแล้วต้องคิดต่อ คิดแล้วก็พิจารณากับความเป็นจริงในกาย ในใจ ของตัวเอง ในพุทธศาสนามีเรื่องของการเรียนรู้ 3 อย่างคือ สุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการอ่าน การฟัง คนอื่น อีกระดับคือ จินตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการใคร่ครวญพิจารณา ลึกลงไปอีกคือ ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ผุดขึ้นในจิตที่สงบและคมชัด เป็นปัญญาหรือ Wisdom ที่หลอมสันดานเราได้จริง มนุษย์มีปัญญาระดับนี้อยู่ในจิต แต่ถูกกลบด้วยนานากิเลส ซึ่งค่อยๆ ขัดเกลาได้ด้วยการฝึกสติให้สังเกตเห็นอาการของกายใจ ณ แต่ละปัจจุบันขณะ



THE WISDOM: อยากให้คุณหญิงพูดถึงคุณค่าของชีวิต


คุณหญิงจำนงศรี: เราเกิดมาในโลกนี้ เรากินเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในโลก บางทีก็ถามตัวเองว่า โลกได้อะไรคืนจากเราบ้าง จากวันที่เราเกิดถึงวันที่เราตาย เราได้ทำอะไรให้โลกน่าอยู่ขึ้นบ้างไหม ให้รู้ตัวว่าชีวิตเราไม่ได้ "เอา" จากโลกมากกว่า "ให้" คืน นั่นก็คือคุณค่าชีวิต


ป้าศรีมหัศจรรย์ใจเสมอ กับคนที่ทำให้กับโลกอย่างเต็มที่ มีคนอย่างนี้เยอะมาก แต่คนที่มีแต่จะ "เอา" จากโลกคงจะเยอะกว่านะ (หัวเราะ) แล้วก็ขอบคุณธรรมชาติที่ให้สมองที่จะเรียนรู้ได้ ก็สนใจที่จะเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ได้เห็นจริงในสัจธรรม ความไม่แน่นอนคงทนของสรรพสิ่ง เห็นจริงว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผลของธรรมชาติ


THE WISDOM: แล้วคุณหญิงได้พยายามทำอะไรเพื่อที่จะคืนให้โลกบ้าง


คุณหญิงจำนงศรี: อะไรที่ผ่านเข้ามาก็ทำตามจังหวะของชีวิต ช่วงนี้ก็เท่าที่จะทำได้ในเรื่อง คุณภาพความแก่และคุณภาพความตาย ไม่ใช่ยื้อชีวิตกันจนลูกเป็นหนี้เป็นสิน สุขภาพจิตเสื่อมโทรม คนที่ตายก็ตายอย่างทรมาน ทั้งกายทั้งใจ เพราะเรื่องยื้อนี่เยอะนะ โดนลูกยื้อในนามความกตัญญู เพราะรัก ยื้อเพราะกลัวบาป ยื้อเพราะกลัวสายตาคนอื่น ตัวใกล้ตายแต่หลายคนก็ยังกังวล กลัว ว้าเหว่


ก็พยายามช่วยผลักดันให้เกิดการตื่นตัวในสังคม ด้านการผลิตความรู้ ความเข้าใจ และบุคลากร ทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า End of Life Care หรือ Hospice Care ให้มีการค้นคว้าวิจัย เพื่อการผลิตเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำหรับคนแก่ คนพิการ คนใกล้ตาย และมีกระบวนการพัฒนาจิตใจผู้ที่จะสูญเสีย ก็ได้มอบที่ดินให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็ช่วยทั้งเขาและทั้งเครือข่ายพุทธิกาในเรื่องนี้เท่าที่จะสามารถ


THE WISDOM: หลายคนมองคุณหญิงเป็นแบบอย่าง แล้วคุณหญิงมองตัวเองอย่างไร


คุณหญิงจำนงศรี: ก็แค่เป็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำอะไรได้ก็ทำ สนุกกับเรื่องที่บางทีคนอื่นไม่ขำ (หัวเราะ) พยายามมีสติอยู่กับตัว ให้รู้ทันอารมณ์ ความคิดตัวเอง ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง นานๆ ทีก็ต้องขอไปอยู่ป่าอยู่เขากับตัวเองบ้าง


THE WISDOM: แล้วต้องมีความสุขหรือไม่


คุณหญิงจำนงศรี: ควร "เป็นสุข" ไม่ใช่แค่ "มีความสุข" ตอนที่ทุกข์สาหัสน่ะ ทางสองแพร่งมันเปิดในใจเรา จะเอาเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ สังคม มากลบทุกข์ หรือจะมองทุกข์ให้มันรู้ดำรู้แดงไปเลยว่าคืออะไร ลักษณะเป็นไง เหตุจากอะไร โดยไม่โทษอะไรหรือใครอื่น ให้รู้ "ทุกข์" รู้ "สมุทัย" นั่นแหละ ต้นทางความ "เป็นสุข" ไอ้การมีความสุขนั้นต้องอาศัยปัจจัยภายนอก แต่ "เป็นสุข" น่ะ เป็นธรรมชาติของใจ ที่สุขง่ายขึ้น ทุกข์ยากขึ้น อะไรที่บางคนทุกข์มาก เราก็ทุกข์น้อยกว่า ไม่มากเท่าสมัยก่อน นี่คือประโยชน์ของความแก่ เป็นโชคนะคะที่อยู่จนแก่"


หากใครได้เห็นรอยยิ้ม แววตาท่าทาง และการพูดคุยอย่างออกรสของ คุณหญิงจำนงศรี ในวันนี้ คงไม่เคลือบแคลงใจเลยว่า บุคคลที่เข้าใจคุณค่าของชีวิตอย่างแท้จริงคนหนึ่งนั้น อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง

 

จาก: คอลัมน์ Reflection of Thought นิตยสาร The Wisdom Issue 032 July-September 2014

ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page