top of page

คืนสู่ธรรมชาติ



ในความร้ายของมนุษยชาติ สิ่งใดจะมากไปกว่าการทำลาย และในการทำลาย จะมีอะไร นอกจากการสูญเสีย...

ธรรมชาติของมนุษย์กำเนิดขึ้นมาทีละคน หากแต่ต้องอยู่ร่วมกันหลายคนจนเป็นสังคม มนุษย์จึงจำต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และในการอยู่ร่วมกันนั่นเอง ความต่างจึงเกิดขึ้นทั้งจงใจและไม่จงใจ อาจจะดีหรือร้าย อาจจะทำลายหรือสร้างสรรค์ ก็สุดแล้วแต่...เหตุที่เกิดจึงเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น

“ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ปัญหาอย่างหนึ่งที่หลายฝ่ายกำลังช่วยกันแก้ไขอยู่ก็นับเป็นผลพวงมาจากการทำลายของมนุษย์เช่นกัน การสูญเสียที่ตามมาอาจจะยังไม่ส่งผลในทันใด แต่ค่อยๆ คืบคลาน...คืบคลานเข้ามาหาอย่างไม่รู้ตัว หรือเมื่อรู้ก็เกือบสายเสียแล้ว...

เกือบสาย...แต่ยังไม่สาย

บัดนี้จึงมีหลายคน หลายฝ่าย หลายสถาบันพยายามสอดมือเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังลุกลามใหญ่โตขึ้นทุกวันๆ ...คนละไม้คนละมือโดยต่างก็มุ่งหวังในจุดหมายเดียวกันว่า ในวันข้างหน้า บนพื้นโลกใบนี้คงมีสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า หรืออย่างน้อยก็ขออย่าเลวร้ายไปกว่านี้อีก

และด้วยหลักคนละไม้คนละมือที่เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสังคมที่ดีขึ้นนี้ ผู้หญิงสองคนที่จะกล่าวถึงในวันนี้ ก็คือสองในหลายๆ บุคคลที่เข้ามาทำประโยชน์เพื่อจุดหมายเดียวกัน แม้จะต่างกันที่การกระทำก็ตาม


ผู้หญิงคนแรก...

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ท่านคือผู้หนึ่งที่ยินดีเข้ามาช่วยเหลือโครงการ หรือมูลนิธิต่างๆ โดยมีปณิธานในใจว่า การเข้าร่วมในกิจกรรมเพื่อส่วนรวมใดๆ หากมีศรัทธาและสิ่งนั้นสอดคล้องกับใจคิด ท่านก็จะเข้าไปร่วมและช่วยในสิ่งที่สามารถทำได้ เช่น สร้างสรรค์งานเขียนประเภทบทละคร นิทาน เพื่อจำหน่ายหรือแสดง นำเงินเข้าสมทบทุน ผลงานล่าสุดของท่านก็คือ เป็นผู้อำนวยการแสดงคอนเสิร์ตนิทานเพลง “หยั่งรากฝากใบ” ของมูลนิธิเด็ก ที่เพิ่งผ่านสายตาประชาชนไปเมื่อเร็วๆ นี้ รวมทั้งเป็นผู้เขียนนิทานเรื่อง “เมล็ดกล้า ในดินกร้าว” และ “หยดฝนกับใบบัว” ซึ่งใช้ในการแสดงนิทานเพลงและพิมพ์เป็นสมุดไดอารีประจำปี 2534 ของมูลนิธิเด็กด้วย





อยากทราบเกี่ยวกับการทำงานด้านการกุศลของคุณหญิงค่ะ ว่าคุณหญิงได้เข้าร่วมกับที่ไหนบ้าง


ดิฉันไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการที่ไหน ทำทุกอย่างในฐานะ “ส่วนตัว” เท่านั้น ทำเฉพาะในสิ่งที่ใจดิฉันอยากจะทำ ตรงกับใจ


ที่ว่าเข้าร่วมเพราะตรงกับใจเป็นอย่างไรคะ


มันก็มีเหตุ อย่างเช่น เด็กปัญญาอ่อนนี่ มีเพื่อนที่มีลูกเป็นปัญญาอ่อนหลายคน แล้วเข้าใจความรู้สึกของเขา เห็นสภาพจิตใจของแม่เด็กและเห็นความสะอาดของตัวเด็ก ทั้งน่าสนใจ ทั้งน่ารัก และเห็นด้วยว่าคนทั่วไปมองข้ามเขาไป เห็นเขาเป็นตัวถ่วงความเจริญ บางทีมองเขาเป็นอะไร เหมือนสัตว์ประหลาด ... ดิฉันก็สะท้อนใจ เขาก็เป็นคนนะ ถ้าตัวเราหรือลูกเราเป็นอย่างเขาล่ะ คนปัญญาดีนี่เรียนรู้สิ่งที่เป็นธรรมชาติจากเด็กปัญญาอ่อนได้เยอะนะ...ดิฉันก็เข้าไป แต่ไม่ได้เข้าไปเป็นทางการอะไรหรอก ก็ทำเท่าที่ทำได้ ใจอยากทำ อ้อ! เคยเขียนบทละครที่นางเอกเป็นคนปัญญาอ่อนไปครั้งหนึ่ง เป็นละครพูด เขียนให้คณะ 28 ซึ่งเขาจัดโครงการสร้างบทละครไทยขึ้นมาเอง หลังจากที่เคยมีเสียงว่ามาว่า ชอบทำแต่ละครที่ดัดแปลง แปลมาจากต่างประเทศ เขาเชิญไปร่วมโครงการในฐานะคนเขียนเรื่อง


ในด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ล่ะคะ


คนปัญญาอ่อนก็เป็นสิ่งแวดล้อมนะคะ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มีจิตใจแต่เรากลับหันหลังให้ อันที่จริงสิ่งรอบตัวเราก็คือสิ่งแวดล้อมทั้งหมด แต่เมื่อเราพูดถึงสิ่งแวดล้อม ทำไมเราไปเน้นหนักหนากับดอกไม้ใบหญ้าพวกนั้น ไม่ใช่! สิ่งแวดล้อมคือคนด้วย คนที่มีจิตใจ คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติของคนไม่ปกติ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจะต้องแย่ลงๆ ...พูดง่ายๆ ว่าเมื่อมาเน้นจุดที่เป็นสิ่งแวดล้อมนั้น ดิฉันไม่อยากให้พูดถึงเพียงต้นไม้ใบหญ้าภูเขา แม่น้ำหรืออะไรอย่างนี้ ดิฉันว่า ทั้งมนุษย์ปัญญาดี ปัญญาอ่อน ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนแก่ คนมี คนจน ก็ใช่ทั้งนั้น แล้วเราจะไม่สนใจสิ่งแวดล้อมเหล่านี้หรือ


...เมื่อเราสนใจในสิ่งเหล่านี้ เราเริ่มที่เด็กถ้าเด็กรักธรรมชาติ โดยที่ไม่เพียงแต่ปากเขาว่า “ฉันรักธรรมชาติ” แต่ให้เขารู้จักมัน ให้มันเป็นเพื่อนกับเขา เขาก็จะไม่ทำลายมัน แต่ถ้าเราไปบอกเขาว่า “อย่าตัดต้นไม้นะ” เป็นสโลแกนว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่างนี้ มันเสียเวลาที่จะพูด คือมันแค่เข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวาหมด ทำอย่างไรที่เขาจะสังเกตมัน ที่เขาจะเห็นว่ามันสำคัญกับเขา คือช่วยเขาให้เห็นเอง ไม่ใช่เราไปบอกอยู่เรื่อย และเมื่อโตขึ้นมาเขาจะรักต้นไม้ รักภูเขา รักแม่น้ำ รู้จักถนอมธรรมชาติจากใจเขาเอง


เรามีวิธีไหนที่จะทำให้เด็กรักธรรมชาติได้บ้างคะ


ดิฉันไม่มีสูตรสำเร็จหรอก เราจะทำอย่างไรก็ได้ ให้เขาสังเกตเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นการงอกงาม การเปลี่ยนแปลง...อะไรๆ ที่เป็นไปในธรรมชาติที่ตัวเขาก็เป็นส่วนหนึ่ง แทนที่จะให้เขาแค่อยากจะมีคอนโดมิเนียมชั้น 18 เพื่อจะมองลงมาเห็นวิวเจ้าพระยา เราต้องทำยังไงก็ได้ ที่ให้เขาสัมผัสว่าน้ำในแม่น้ำมันเย็นนะ มันไหลนุ่ม เวลามันใสสะอาด มันน่าชื่นใจ ทำไงเขาจะเห็นว่า ถ้าเขารดน้ำต้นไม้ทุกวันมันจะงอกงามขึ้นมาให้เขาชื่นใจให้เขาได้เห็นดอกสวยงามอย่างนี้นะ เมื่อถึงวันนั้นจะทำให้เขารักน้ำและต้นไม้ด้วย เพราะน้ำทำให้ต้นไม้สวย ต้นไม้ทำให้เขาสดชื่นและเขาเลี้ยงมันมากับมือ อย่างนี้...มันไม่มีสูตรสำเร็จค่ะ


คุณหญิงเน้นความสำคัญไปที่เด็กอย่างเดียวหรือคะ

ไม่หรอกค่ะ แต่เด็กเป็นสิ่งที่น่าทำที่สุด เขารับอะไรได้มากที่สุด เขาเหมือนถ้วยแก้วที่ยังไม่เต็ม น้ำโคลนลงไปเขาก็รับ น้ำสะอาดลงไปเขาก็รับ สีอะไรใส่เข้าไปเขารับหมด เพราะฉะนั้นให้เขาได้เปิดใจเปิดความรู้สึกต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเขา ให้เขาได้รับรู้ ได้เข้าใจด้วยตัวของเขาเอง แต่ผู้ใหญ่นี่บางคนเต็มแล้ว ใส่ไปก็ล้น ไหลออกมารับไม่ได้ บางคนก็เหมือนแก้วที่เต็มแล้ว จะด้วยอะไรก็ตาม เขาจะรับเข้าไปปนกับสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว บางทีเขาก็ปรุงออกมาอย่างที่ผลประโยชน์มันให้ปรุง ไอ้ความเปิดของใจจริงๆ มันน้อยกว่าเด็ก ดิฉันเคารพผู้ที่เปิดรับ และดิฉันเคารพเด็ก และยอมรับเสมอว่าได้เรียนรู้ธรรมชาติจากเด็กปัญญาอ่อนมามากกว่าเด็กปกติ


เรียนรู้อย่างไรคะ


คือเด็กปัญญาอ่อนเขาจะแสดงทุกอย่างตามธรรมชาติของเขา ทั้งส่วนที่รุนแรง ทั้งที่นุ่มนวล คือเป็นอะไรก็จะออกมาตรงๆ ไม่ได้ปรุงแต่ง เราจึงสัมผัสกับความจริงและเห็นจริงได้ในเด็กปัญญาอ่อน ในชั้นหนึ่งมันน่าสนใจมากนะคะ บางทีเราก็มาเห็นสิ่งนั้นในคนที่ไม่ปัญญาอ่อนเลย แต่เขาสามารถที่จะปรุงแต่งและสามารถจะออกมาในอีกแบบหนึ่ง จริงๆ แล้วพื้นฐานอันเดียวกับเด็กปัญญาอ่อนมีและแสดงออกอย่างไม่ปิดบังนั่นแหละ แต่ว่าคนปัญญาดีนั้น ความที่เขาขัดเกลาแล้ว กิเลสเหล่านั้น เราอาจจะเห็นไม่ชัดนัก มันแฝงเร้นในรูปต่างๆ เราก็เห็นอีกแบบหนึ่ง ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจมากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์เนี่ย


เลยมุ่งความสนใจมาที่มนุษย์มากกว่า


ดิฉันโตขึ้นมากับต้นไม้ใบหญ้าอยู่แล้วค่ะ ดิฉันเป็นเด็กบ้านสวน คุณแม่ดิฉันเสียตั้งแต่ดิฉันอายุ 2 ขวบ ต้องอยู่ด้วยตัวเองมากเหลือเกิน และอยู่อย่างนั้น มันต้องสัมผัสกับท้องร่องโคลน ปลาเข็ม แมลงปอ ปลวก ต้นไม้ ผลไม้... คือบ้านสวนอยู่ฝั่งธนฯ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของดิฉันอยู่แล้ว ดิฉันไม่ตื่นเต้นกรี๊ดกร๊าด... ว้ายตาย! มันวิเศษสวยอะไรมากมาย คือมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่แล้ว คนมักจะถามว่างานเขียนของดิฉันทำไมถึงออกมาในแนวธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหนักหนา ตอบง่ายๆ นิดเดียวว่า... ดิฉันโตขึ้นมากับสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น แล้วก็ขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่บนตึกชั้น 5 ถึง 10 ปีกว่า และคนที่เคยอยู่กับสวนท้องร่อง โคลน... ความรู้สึกของโคลน โคลนนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกลียดเลย เป็นสิ่งที่สวยมากและมันนุ่ม มันเย็นมันนุ่มเนียนอยู่ในตัวนี่แหละค่ะ จนเดี๋ยวนี้เมื่อขึ้นไปอยู่บนนั้น (ชั้นบนของคลินิกจักษุแพทย์รัตนิน) ทำให้เรานึกอะไรได้มาก นึกถึงมันมันก็เข้ามาอยู่ในงาน แบบเป็นไปเองน่ะ


แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะกับธรรมชาติที่ถูกทำลาย


เมื่อธรรมชาติถูกทำลายมากขึ้นทุกๆ วันดิฉันรู้สึกกลัวนะคะ กลัวว่าวันข้างหน้าต่อไปจะเป็นอย่างไร ในเมื่อทุกอย่างมันแห้งแล้งขึ้น แล้วธรรมชาติของมนุษย์ก็จะถูกบีบบังคับให้โหดขึ้น เพราะลำบากขึ้นต้องวิ่งหามากขึ้น คือดิฉันมีความรู้สึกว่าธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีความอุดมสมบูรณ์ การวิ่งหาคงจะไม่มากนัก แต่ถ้าเผื่อว่าธรรมชาติมันแร้นแค้น แห้งแล้งขึ้น คนก็เห็นแก่ตัวขึ้น การทำลายก็จะมากขึ้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก...น่ากลัว


อาจจะเป็นเพราะคุณหญิงเป็นผู้รักธรรมชาติ


ไม่ทราบ...ดิฉันไม่เคยอ้างว่ารักธรรมชาติ บางทีเราลุกขึ้นแล้วบอก เรานี่ก็ไม่รู้ว่าเรารักจริงหรือเปล่า ดิฉันไม่รู้ว่าจะอวดได้หรือเปล่าว่ารักธรรมชาติ แต่รู้สึกคุ้นค่ะ รู้สึกนิ่ง ไม่ร้อนรน แค่มองดูน้ำไหล แม่น้ำ ลำธารอะไรก็ได้ ก็ใจสงบ คิดถึงความจริงต่างๆ ที่ทำให้เราดิ้นรนน้อยลง ยึดมั่นกับสิ่งภายนอกน้อยลง


แต่ผลงานที่ออกมาก็แสดงถึงการทำเพื่อธรรมชาตินะคะ


ไม่ใช่ถึงกับวางเข็มชัดเจนหรอกค่ะ ก็ตามแต่ใจหรือใคร ตามแต่โอกาสและเวลา ดิฉันเป็นคนไม่มีระบบ บางทีการวางแผนล่วงหน้าทำให้เกิดเกร็ง

มีคนถามเหมือนกันว่า “หยั่งรากฝากใบ” ทำเพื่ออะไร ก็บอกว่าคงจะเพื่อให้คนกลับมาหาใจตัวเอง คือคนเรามักจะสร้างอะไรขึ้นมาจากสมองเยอะ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ดีหรอก แต่เมื่อเราสร้างขึ้นมาแล้ว วิทยาการ วิทยาศาสตร์ เสื้อผ้า บ้านช่องหรืออะไรก็ตาม เราก็หลง สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา แล้วเราไม่เคยพอ เราก็วิ่งตามหามันให้มากขึ้นไปอีก...

เราสร้างบ้านหลังหนึ่งแล้ว เราก็เห็นว่ามันร้อน เราต้องเอาแอร์มาใส่ เรามัวแต่จะวิ่งหาอะไร ที่เราทำให้มันเกิดขึ้นจากสมองของเราหรือเงิน...จริงๆ แล้วดิฉันยอมรับนะว่าเงินเป็นสิ่งที่ยั่วยวนให้เราวิ่งตามมัน เงินก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หามาได้ในบางส่วน เราหามันมาเพื่อให้มันไปหาอะไรมาสนองความต้องการของเราเรื่อยๆๆๆ ทีนี้เราก็ไม่เคยกลับ เราไม่รู้จักใจของเราเป็นอย่างไร รู้สึกว่าใจเราหยาบอยู่เรื่อย...


ที่ว่าอยากให้เรากลับมาหาใจตัวเองอีกครั้งหนึ่ง...บางทีไอ้ความที่เราอยู่กับใจตัวเองซะบ้าง อาจทำให้เกิดความสงบ เข้าใจคน เข้าใจธรรมชาติของตัวเอง เข้าใจสิ่งที่เป็นจริง แล้วก็จะเป็นจริงไปเรื่อยๆ ก็คือธรรมชาตินั่นแหละ


คุณหญิงมีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติมากไหมคะ


มีเยอะค่ะ แต่สะเปะสะปะ ไม่เป็นล่ำเป็นสัน ส่วนมากออกมาในแนวนิทานเด็กๆ บทกวี บทละครนี่ก็เคยค่ะ เคยได้รางวัลเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เรื่องที่สองเขียนเรื่องเด็กปัญญาอ่อนที่บอกมาแล้ว...แต่ดิฉันก็ยังคิดว่าเป็นบทละครที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถนำไปเล่นได้โดยไม่ปรับปรุง เพราะดิฉันยังไม่ช่ำชองพอ...คือเป็นคนที่ดูละครเป็น แล้วรู้สึกว่างานของเรายังไม่เหมาะกับการขึ้นเวที เหมาะกับการอ่านมากกว่า ถ้าจะเอาไปแสดงต้องมีผู้กำกับฯ มาปรับปรุง แล้วทีนี้ปัญหามันมีอยู่ว่าคนไทยไม่ชินต่อการอ่าน ชอบดูละครเวทีมากกว่าด้วยค่ะ


ตอนที่คณะ 28 นำบทละครของดิฉันมาอ่านที่เกอเต้นั้น เป็นเรื่อง “ขอบฟ้าของแก้วตา” คุณกาญจนาพร ปลอดภัย เป็นผู้อ่านบทแม่ของนางเอกปัญญาอ่อน เธออ่านได้ดีเหลือเกิน คือดีจนคนเขียนสะอึกเลยว่าโอ้โห...ทำไมบทนี้มันออกมาได้งามอย่างนี้ ทำให้เราเห็นว่าอารมณ์ในบทเนี่ยเราคงใส่เข้าไปเยอะพอ และคุณกาญจนาพรด้วยความฉลาดและความเก่งของเธอ และเธอเสนอไปนี่ คนฟังไม่มีใครปฎิเสธได้ว่ามันแจ๋ว แต่ว่าเราทำได้เพียงแค่นั้นคือ สร้างตัวละครขึ้นมาให้เป็นมนุษย์มีอารมณ์ซับซ้อน แต่เรายังไม่สามารถจะสร้างงานสักชิ้นขึ้นมาได้ ในลักษณะที่เป็นละครที่ซับซ้อนเพียงพอในท้องเรื่อง แต่ถึงเดี๋ยวนี้ดิฉันก็ยังจำนักแสดงคนนี้ได้ดีนะคะ คือเธอเข้าใจงาน เข้าใจตัวละครได้ดีมาก นักแสดงถึง แต่การสร้างบทของเรายังไม่ถึงใจตัวเอง


เกี่ยวกับการเขียนบทกวีล่ะคะ


ก็ไม่เป็นล่ำเป็นสันเหมือนกัน มีนิทานนี่แหละที่คุณดนู ฮันตระกูล นำไปทำดนตรีสองบทแล้วคือ “หยดฝนกับใบบัว ” และ “เมล็ดกล้า ในดินกร้าว ” เรื่องหลังนี้นำมาเป็นเรื่องหนึ่งในการแสดงคอนเสิร์ตนิทานเพลงครั้งนี้ไงคะ เรื่องแรกเล่นไปเมื่อ 2 ปีก่อน...เนี่ยพอเขียนถึงหยดฝน ใบบัว เม็ดมะขาม ใครๆ ก็เลยพูดกันว่าเขียนอะไรๆ ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ


คิดว่าจะมีอีกไหมคะคอนเสิร์ตนิทานเพลง


งานอย่างนี้ไม่ใช่มีง่ายๆ นะคะ ไม่ใช่การเล่นละคร แต่เป็นคอนเสิร์ต มันใช้เวลานานมากในการ เตรียมตัว งานที่ออกมานั้นเป็นงานใหม่หมดทุกชิ้น ทุกคนทำใหม่หมด เพื่องานนี้โดยเฉพาะ และวิธีการเล่นของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป น่าสนใจ และแต่ละคนมีความสามารถสูงจริงๆ ค่ะ


ส่วนหนึ่งของผู้มีความสามารถ ทำให้งานครั้งนี้สมบูรณ์ก็น่าจะเป็นคุณหญิงด้วยนะคะ


ดิฉันไม่ได้ทำอะไรมากเลย เพียงแค่คิดว่านิทานนั้นเป็นสื่อที่ดี ก็เลยเสนอว่าน่าจะนำนิทานมาเป็นแกนคอนเสิร์ต


อย่างไรคะ


คือทางมูลนิธิเด็กบอกว่า อยากจะนำศิลปะ ดนตรี ภาพ เข้ามามีผลกับเด็กบ้างจะทำอย่างไร ก็บังเอิญว่าทางมูลนิธิฯ ใช้นิทานเป็นเครื่องประดับไดอารี่ทุกๆ ปี และปีนี้เป็นนิทานของดิฉัน ก็เลยเสนอเขาว่าน่าทำคอนเสิร์ตที่เป็นนิทานล้วนๆ เลย นำเสนอด้วยวิธีสมัยใหม่ งานต่างๆ เขียนโดยคนสมัยใหม่ ไม่เอาของโบราณมาใช้ จึงออกมาเป็นอย่างที่เห็น


แล้วในที่สุด “หยั่งรากฝากใบ ” ก็เอาศิลปะออกมารับใช้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำร้ายโดยมลพิษในจิตใจมนุษย์น่ะค่ะ สื่อหลักคือนิทาน เพราะนิทานนี่เป็นวรรณกรรมประเภทที่จะเป็นจุดนัดพบทางจินตนาการของเด็กกับผู้ใหญ่ เสน่ห์ของนิทานอยู่ตรงที่การเล่าเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ซ่อนความคิดไว้หลายระดับ ผู้แต่งเองก็ใช้จินตนาการได้อย่างเสรี สัตว์กับต้นไม้พูดได้ เม็ดมะขามคุยกับดิน พระจันทร์ลงมาหาเด็ก ช้างประลองกำลังกับเรือไอ ลูกไม้วิเศษเสกฝันได้ ทั้งหมดนี้มีได้ในเฉพาะนิทาน และ “หยั่งรากฝากใบ” ครั้งนี้ ก็เสนอนิทานไทยแนวร่วมสมัยด้วยความหวังว่าให้คนยุคใหม่ได้หันมาให้ความสำคัญกับที่นัดพบทางใจ ณ จุดนี้


ดนตรี ภาพ และการแสดงจึงเข้ามาร่วมมีบทบาทในการเล่านิทานด้วยเพลง เส้น สี และลีลา...นี่มันสนุกก็คือว่า ที่ออกมานี้ เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ได้ตกลงกันล่วงหน้าเลย คือเขียนสุดแต่ใจจะอยากเขียน ในแนวที่แต่ละคนมีจุดร่วมโดยบังเอิญ


ในโอกาสข้างหน้าคุณหญิงมีโครงการที่จะทำงานร่วมกับมูลนิธิเด็กอีกต่อไปไหมคะ


ก็แล้วแต่โอกาสค่ะ ตอนนี้ก็ช่วยเขาบ้าง อ้อ...ตอนนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังมีหนังสือเล่มหนึ่งขายอยู่ด้วยนะคะ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้บ้างก็ดี เป็นหนังสือสวย ชื่อว่า “ป่าวิเศษ” เป็นงานของคุณ เทพศิริ สุขโสภา ค่ะ เขียนและวาดภาพประกอบเอง อยากจะรณรงค์ให้คนมาช่วยซื้อหนังสือนี้ไปให้แก่คนไม่มีโอกาสซื้อด้วยตนเอง อย่างเช่น งานปีใหม่ วันเกิด แทนที่จะเสียเงิน 180 บาท ไปซื้อเลี้ยงกันก็อยากจะให้เอามาซื้อหนังสือเล่มนี้ดีกว่า เป็นหนังสือนิทานกับภาพอ่านแล้วให้แง่คิด อาจทำให้เขาสังเกตธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และรู้จักใช้จินตนาการสร้างสรรค์อะไรดีๆ สิ่งเหล่านี้แหละ ทีละน้อยมันก็อาจจะทำให้เด็กลุกขึ้นมองแสงที่มันสะท้อนอยู่...อยู่ตรงไหนก็ตาม เขาจะเห็นด้วยตัวเอง


คอนเสิร์ตที่ผ่านมานี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายว่ามีโอกาสแสดงแค่ที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถออกสู่ข้างนอกได้ แต่หนังสือถ้ามีใครจะซื้อเป็นของขวัญให้เด็กผู้ด้อยโอกาสบ้าง ก็จะไปถึงได้ ตอนนี้เราอยากขอความร่วมมือจากทุกคน ที่เห็นความสำคัญของเด็ก ของธรรมชาติและจินตนาการ ใครสนใจก็ติดต่อกลับมาได้นะคะ ที่มูลนิธิเด็ก โทร.437-4318, 438-0353-4 หนังสือนี้ไม่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาด สั่งซื้อได้จากมูลนิธิเด็ก 666 ถ.เจริญนคร เขตคลองสาน กทม. 10600 และมีวางขายที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาต่างๆ


ส่วนเล่มต่อไปจะทำออกมาอีก ชื่อ “ฉันชื่อปูลม” เป็นเรื่องของดิฉันเอง คุณชัยยศ จันทราทิตย์ จะเป็นครั้งแรกที่คุณชัยยศ เขียนภาพประกอบหนังสือ...อย่าเรียกภาพประกอบเลย เพราะภาพจะสำคัญไม่แพ้เรื่อง เรากำลังดีใจกันใหญ่ที่จิตรกรสำคัญๆ อย่างคุณชัยยศหันมาสนใจนิทานเด็ก นิทานที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ


ความดำเนินมาสิ้นสุดลง ณ บรรทัดนี้...แต่เจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของ คุณหญิง จำนงศรี รัตนินก็ยังคงดำเนินต่อไป


อย่างไม่หยุดยั้ง


 

จาก: คอลัมน์ เอ็กซ์คลูซีฟ นิตยสารผู้หญิง ปีที่ 8 ฉบับที่ 136 ปักษ์แรกเดือนเมษายน 2534


ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ที่คล้ายกัน

ดูทั้งหมด

留言


bottom of page