
คุณหญิงจำนงศรี ได้จัดทำพินัยกรรมชีวิตไว้เผยแพร่เป็นตัวอย่างให้แก่สาธารณะ มีการเตรียมตัวจากลาอย่างสงบ รวมถึงการริเริ่มแนวคิดการจัดการร่างกายแบบให้สลายคืนสู่ธรรมชาติกลายเป็นดิน และนำไปปลูกต้นไม้ สลายร่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะเธอเห็นว่ามนุษย์เราตั้งแต่เกิดมา ได้ใช้ประโยชน์จากโลกนี้มาตลอดชีวิตแล้ว การจัดการร่างกายตนเองแบบคืนชีวิตตนเองกลับสู่ธรรมชาติ อาจเป็นประโยชน์บางประการ กระทั่งอาจเป็นโอกาสการทำกุศลครั้งสุดท้าย
“เรารู้กันว่า โลกร้อนกำลังวิกฤติ และทั้งที่ตลอดชีวิตของคนเรา ก็ใช้ชีวิตอื่นในการบำรุงชีวิตเรา แถมตอนตาย คนก็ยังยึดอัตตาว่า ให้เผา มองเห็นกลายเป็นควัน แล้วบอกว่า ขึ้นไปสวรรค์แล้ว ความคิดแบบนี้แตกต่างจากธิเบตที่ตายแล้ว ก็เอาศพให้นกแร้งกิน ป้าศรีเลยมีความคิดถึงการไม่เผาร่าง ใช้การสลายร่างกลายเป็นดินเป็นปุ๋ย และนำดินนั้นไปปลูกเป็นต้นไม้ที่แต่ละคนเลือกไว้ ถ้าคนเราไม่ยึดอัตตาก็น่าจะร่วมกันทำให้เกิดเป็นพื้นที่การปลูกต้นไม้ เป็นป่าหรือสวนขนาดสัก 100 ไร่ แล้วจัดภูมิทัศน์ ออกแบบให้สวยงาม”
ข้อริเริ่มของคุณหญิงจำนงศรีกล่าว นับว่าเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากความคุ้นเคยของคนทั่วไปในสังคมไทย แต่หากพิจารณาโดยสาระสำคัญ คือ เป็นการเตรียมตัวจากไปอย่างครบถ้วน โดยคิดไปถึงกระบวนการจัดการร่าง อย่างที่เรียกได้ว่าสู่การปล่อยวางตัวตน คล้ายกับแนวคิดการจัดการศพแบบธิเบต ซึ่งนับเป็นการปล่อยวางจากการยึดกับร่างกาย ซึ่งคนทั่วไปยึดถือเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ทั้งคนที่ตายและผู้ที่ยังอยู่ โดยแนวทางนี้ชาวธิเบตจะไม่เก็บอัฐิ(กระดูก) หรือส่วนใดแม้ปลายผม ปลายเล็บของผู้ตายไว้เลย
ในหนังสือฝังเธอที่ปลายฟ้า ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนจากเรื่องจริงที่เขียน สตรีนามซูเหวิน แพทย์หญิงชาวจีนออกตามหาสามีที่สูญหายไปในธิเบต โดยเธอใช้ชีวิตในธิเบตมากกว่า 30 ปี ส่วนหนึ่งเธอได้กล่าวถึงความตายและการจัดการร่าง(ศพ)แบบธิเบต ว่า “อาจารย์ ,สัปเหร่อ หรือด็อมเอ็ม จะชำแหละศพออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยเครื่องมือหลายขนาด มีตั้งแต่มีดอีโต้ ไปจนถึงมีดเล่มเล็กๆ ที่ใช้แล่เนื้อ รวมแล้ว 15-16 เล่ม การชำแหละเริ่มต้นจากการกรีดหนังตรงเหนือคิ้วให้เป็นรอย แล้วถลกหนังศีรษะออกมากองไว้ จากนั้นผ่าท้องเอาตับไตไส้พุงออกมา แล้วแล่เนื้อออกจากกระดูก สับเนื้อเป็นชิ้น จากนั้นจึงใช้มีดอีโต้สับตรงข้อต่อ แล้วค้อนใหญ่กระหน่ำกระดูกให้แตก แล้วจึงผ่ากระโหลกจัดการเอามันสมองออกคลุกเคล้ากับเลือด ซึ่งมันสมองเป็นส่วนที่แร้งโปรดปราน แล้ว ด็อมเอ็มจะส่งสัญญาณเรียกจ่าฝูงแร้งลงมากิน โดยส่งชิ้นส่วนแรกคือมันสมองที่ผสมกับเลือดให้กินก่อน ตามด้วยเนื้อที่สับไว้
“เมื่อแร้งจัดการกับร่างจนหมดเกลี้ยงไม่เหลือเศษ ญาติจึงนำส่วนของหนังศีรษะที่ติดผม และเสื้อผ้าชุดสุดท้ายที่เตรียมมาด้วยเผาตามไป เป็นอันเสร็จพิธีส่งวิญญาณสู่ปรโลก โดยไม่ต้องมีการนำกระดูกไปลอยอังคาร หรือเก็บอัฐิส่วนหนึ่งของผู้ตายไว้ให้ทำบุญระลึกถึงกันทุกปี เพราะนั่นเป็นการทำให้ผู้ตายยังคงมีห่วงผูกพันกับคนที่บ้าน เหตุที่คนทิเบตไม่ร้องไห้ฟูมฟายเมื่อมีคนตาย เพราะอยากให้วิญญาณไปสบายนั่นเอง”
ฟังดูอาจรู้สึกสยองแต่ “ถ้าจะพิจารณากันให้ลึกซึ้งแล้ว ชาวทิเบตมีความเชื่อว่าการเกิด การตาย เป็นเพียงการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้กับดวงวิญญาณที่ไม่ดับสูญ วัฒนธรรมบนหลังคาโลกที่ปราศจากการยึดติดในร่างกาย ยังเปิดโอกาสให้ผู้ตายได้ทำกุศลครั้งสุดท้ายด้วยตนเอง เมื่อร่างของเขาเติมเต็มกระเพาะอาหารของนกแร้ง เท่ากับเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้อีกหลายชีวิต ที่ไม่ต้องเป็นอาหารของนกแร้ง”
ส่วนในสังคมตะวันตก ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดการออกแบบความตาย แบบที่เลือกการตายอย่างส่งเสริม
สิ่งแวดล้อมหรือแบบตายสงบศพสีเขียว ซึ่งเริ่มปรากฏในต่างประเทศ โดยมีเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายของบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่มีกำหนดมีผลบังคับใช้เมื่อ เดือนพฤษภาคม 2565 เข้ามาสนับสนุน
สถานรับทำศพแบบพิเศษ ที่นครซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกา บริการหมักซากศพให้ย่อยสลายกลายเป็นดินปุ๋ยชั้นดี เหมาะสำหรับนำไปทำสวนและเพาะปลูก ซึ่งทางบริษัทรีคอมโพสเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า "การประกอบสร้างใหม่" (Recomposition) และ "การลดรูปแบบอินทรีย์ตามธรรมชาติ" (Natural organic reduction) โดยนำศพเข้าเก็บในช่องรูปหกเหลี่ยม ที่สร้างให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะมีการกลบร่างของผู้เสียชีวิตด้วยเศษไม้สับเป็นชิ้นเล็กๆ ในสภาพที่ปล่อยให้อากาศผ่านได้สะดวก เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กับการเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในการนี้ เมื่อครบกำหนดที่ร่างผู้ตายได้ย่อยสลายลงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่ากินเวลาประมาณ 30 วัน ญาติมิตรจะสามารถนำดินปุ๋ยทั้งหมดหรือบางส่วนที่ได้จากการหมักศพไปใช้ปลูกต้นไม้ โดยมีดินปุ๋ยเกิดขึ้นราว 1 ลูกบาศก์เมตรต่อการย่อยสลายศพ 1ร่าง
การจัดการพินัยกรรมชีวิตอย่างครบองค์ ที่รวมถึงเลือกวิธีการจัดการร่าง (ศพ, ธาตุขันธ์, ธาตุ4 ) คืนสู่ธรรมชาติกลายเป็นต้นไม้ ซึ่งแง่หนึ่งเป็นการสื่อสารแสดงพุทธปรัชญาต่อชีวิตและความตาย โดยอาศัย
การ พัฒนาจิตในช่วงชีวิตระยะสุดท้าย ที่เตรียมตัวจากอย่างสงบ จึงเป็นดั่งการปลูกต้นไม้จิตปัญญาในสวนพระพุทธเจ้า ของผู้เตรียมตัวตายเพื่อพัฒนามรณสติของตน เกิดเป็นป่าหรือสวน 100 ไร่ ที่เปี่ยมความหมาย
ข้อมูลอ้างอิง
1.ปลูกต้นไม้จิตปัญญาในสวนพระพุทธเจ้า :แนวคิดและรูปแบบการดูแลชีวิตระยะสุดท้าย วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาชีวิตและความตาย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
2.หนังสือฝังเธอที่ปลายฟ้า