top of page

ความหวังและความเป็นห่วงต่อสังคมไทย

  • รูปภาพนักเขียน: supita reongjit
    supita reongjit
  • 20 มิ.ย. 2566
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 21 ก.ค. 2567

หลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ

ความละอาย - คุณสมบัติที่กำลังเหือด

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์



Illustration: Mohamed Hassan



รับปากกับ 'จุดประกาย' ว่าจะเขียนบทความว่าด้วยเรื่อง ความหวังและความเป็นห่วงต่อสังคมไทยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ รับมาแล้วก็เกิดรู้สึกกลุ้มใจตะหงิดๆ เพราะรู้ว่าเขียนไปก็คงจะถูกมองว่าเป็นคนรุ่นเก่าเต่าร้อยปี เพราะหวังอะไร 'เชยๆ' ที่คนรุ่นใหม่อาจจะเรียกว่าความหวังตกรุ่น ครั้นจะไม่เขียนก็จะผิดคำพูดที่ได้ตกปากตกคำไว้


ความหวังกับความเป็นห่วงคู่กันเหมือนวันกับคืน ดูคล้ายจะตรงกันข้ามแต่อันที่จริงเป็นคนละหน้าของเหรียญเดียวกัน หวังเพราะอยากให้เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ห่วงใยเพราะกลัวจะไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเรื่องหวังกับเรื่องห่วงนี้จะเขียนรวบยอดรวมกันได้ไม่ยาก


ความหวังอันล้าสมัยข้อแรกของข้าพเจ้าก็คือ ความหวังว่าไทยเราจะมีสังคมที่มีความละอาย และในเมื่อส่วนสำคัญของสังคมคือรัฐบาล ซึ่งเป็นทั้งตัวอย่างและเป็นกลไกที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงหวังว่ารัฐบาลที่จะตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง จะประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความละอายเช่นกัน อย่างน้อยก็เป็นส่วนใหญ่ เมื่อหวังแล้วก็ห่วงว่าอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น


ตรงนี้ขอเน้นตรงคำว่า 'ละอาย' ไม่ใช่ 'อาย' ยกตัวอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ว่า คนหลายคน 'อาย' ที่แต่งตัว ล้าสมัย ไม่มียี่ห้อ พูดภาษาฝรั่งไม่เก่ง ไม่มีรถเบนซ์นั่ง หรืออายที่ถูกจับได้ว่าขโมยของ แต่กลับไม่ 'ละอาย' ที่จะโกง ที่จะพูดปดมดเท็จ รับเงินใต้โต๊ะ ขโมยโดยไม่มีใครจับได้ รวมทั้งไม่ละอายเลยที่จะเบี้ยวหนี้หลีกหนีความรับผิดชอบ


จากตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าความ 'ละอาย' เป็นเรื่องของจริยธรรมความถูกต้องที่เกิดขึ้นจากสำนึกภายใน ส่วนความ 'อาย' เป็นเรื่องของความรู้สึกด้อยในสายตาผู้อื่น (ถึงแม้ว่าบางเรื่องไม่ใช่เรื่องเสื่อมเสียแต่ประการใด) หรือเป็นเรื่องของการจับได้หรือถูกเปิดเผยในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะปกปิด (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นเรื่องที่ควรละอาย) พูดง่ายๆ ว่าความอายเป็นเรื่องของภาพภายนอก พูดไปแล้วบางคนไม่เพียงแต่ขาดความละอาย แต่สิ้นไร้ความอายเข้าไปอีกเสียด้วย


ในยุคนี้เทคโนโลยีด้านสื่อทำให้การสร้างภาพมีอิทธิพลมหาศาล ภาพภายนอกสามารถโน้มน้าวความรู้สึกนึกคิดของสังคมส่วนรวม เมื่อภาพที่ปรากฏแก่หูแก่ตาคนอื่นๆ มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างเอกอุเช่นนี้ บทบาทและความสำคัญของความละอายอันเป็นคุณสมบัติภายใน ก็ดูจะค่อยๆ เลือนหายไป


อยากจะพูดว่า..เลือนหายไปทีละน้อย แต่พูดไม่ได้พราะหายไปอย่างรวดเร็ว ฮวบฮาบจนน่าหวั่นวิตก

รัฐธรรมนูญใหม่ ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์จนไม่มีที่ติ แต่ก็ได้สร้างกรอบทางกฎหมายและองค์กรอิสระต่างๆ ขึ้น เพื่อให้การเมืองการปกครองเป็นไปอย่างมีระเบียบหลักการยิ่งขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญเดิม


แต่หลายอย่างที่ได้เกิดขึ้นทำให้ข้าพเจ้าเป็นห่วงว่า ผู้ที่ไร้ความละอาย โดยฉะเพาะอย่างยิ่งข้าราชการและนักการเมือง ก็ยังจะใช้ช่องโหว่รูเล็ก รูน้อย ในตัวบทกฎหมาย สร้างประโยชน์อันมิชอบกับตัวเองและพรรคพวกได้ หากแต่ต้องทำอย่างแนบเนียนขึ้น คนที่จะลอดลื่นร่องรูกฎหมาย จะต้องคิดหาเทคนิควิธีอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น ยิ่งรอบคอบ ยิ่งลองผิดลองถูกกันมากขึ้น ก็เชี่ยวชาญขึ้น ศิลปะการโกงและการกลบรอยก็จะพัฒนาขึ้น ทั้งจับผิดและเอาผิดได้ยากราวมายากล


ผู้ที่มีเหลี่ยมมีคมมีอำนาจในด้านต่างๆ ยังสามารถยอกย้อนใช้ตัวบทกฎหมายและเทคนิคทางสื่อ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพล้ำลึก ในการเสริมฐานถางทางได้ มิหนำซ้ำยังอาจใช้ประชาชนเป็นกลไกให้ประโยชน์กับตัวเองอีกด้วย


ตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง แต่ก็เพียงเป็นกรอบทางรูปธรรม ข้าพเจ้าจึงหวังว่าค่านิยมด้านความละอายคุณธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางนามธรรมของมนุษย์ที่เจริญแล้ว จะกลับคืนมาสู่สังคมไทย ถ้ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นตัวอย่างให้ประชาชนในเรื่องนี้ไม่ได้ ประชาชนก็คงจะต้องสร้างกระแสตัวอย่างให้รัฐบาล และข้าราชการ


เพราะถ้าหากไทยเราเป็นสังคมที่ขัดสนความละอายขึ้นเท่าใด คนในวงการต่างๆ ก็สามารถใช้ความฉลาดกอบโกยเอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้เท่านั้น ตราบที่ใช้เทคนิคต่างๆ ปกปิดบิดเบือนสร้างภาพ เอาอกเอาใจสังคมวงกว้างให้ดูน่าเชื่อถือได้


ตรงนี้เราก็ต้องหันมามองที่สื่อ ข้าพเจ้าเองเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นผู้สื่อข่าว เป็นคอลัมนิสต์ ต่อมาก็ได้เคยทำงานด้านวิทยุ ถึงเวลาจะผ่านมานานแล้วก็ยังรักวงการนี้ เป็นธรรมดามนุษย์ที่ยิ่งรักก็ยิ่งหวัง ยิ่งรักก็ยิ่งห่วง


ในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่งข้าพเจ้ายอมรับว่าตัวเองเป็นทาสของสื่อ เพราะรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองจากสื่อเกือบทั้งสิ้น บางครั้งหนีมาอยู่บ้านต่างจังหวัดที่ไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่รับหนังสือพิมพ์ ก็กลายเป็นคนโง่ที่ไม่รู้เหตุการณ์ใดๆ ในโลกกว้าง ไม่ช้าก็ต้องหาหนังสือพิมพ์อ่าน เปิดวิทยุฟังข่าว เปิดโทรทัศน์ดูหน้า ดูท่าทาง ของคนในข่าว


ถ้าสื่อรับใช้กลุ่มผลประโยชน์ ไม่ว่าจะกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการเมือง ข้าพเจ้าก็ต้องกลายเป็นทาสของทาสไปโดยปริยาย ฉะนั้น จึงตั้งความหวังไว้กับความละอายซึ่งเป็นคุณธรรมหลักที่จะรักษาเกียรติศักดิ์ของฐานันดร 4ในสังคมไทยให้คงอยู่ เกียรติศักดิ์นี้ขึ้นอยู่ความเป็นอิสระและความใสสะอาดเหมือนเลนส์แว่นตาที่ปลอดฝุ่นและสี


ความหวังข้อที่สองของข้าพเจ้า ก็คงจะล้าสมัยไม่แพ้ข้อแรกคือ อยากให้สังคมไทยมีความหนักแน่น ให้เป็นสังคมที่รู้จักเผื่อแผ่เจือจาน รู้จักทั้งเคลื่อนไหวและรอคอยอย่างมีสติเมื่อจำเป็น เพื่อประโยชน์ระยะยาวของส่วนรวม ความหวังนี้คงจะฟังดูคร่ำครึโบร่ำโบราณในยุคสมัยแห่งความรวดเร็ว ที่ทุกอย่างจะต้องพุ่งปราดไปข้างหน้า คนยุคใหม่เติบโตขึ้นมาด้วยการได้ทุกอย่างมาอย่างรวดเร็ว ทันอกทันใจ สังคมไทยก็เริ่มป่วยด้วยโรคคอยไม่ได้ เอาอะไรจะต้องเอาเดี๋ยวนั้น เมื่อไม่ได้ก็เอะอะ ไม่พอใจ เป็นสังคมที่ให้คุณค่ากับความรวดเร็วมากกว่าสติกับความรอบคอบ


ข้าพเจ้าหวังที่จะเห็นสังคมไทยที่หนักแน่นขึ้น เผื่อแผ่เจือจาน รู้จักมองภาพรวม รวมทั้งรู้จักทั้งเคลื่อนไหวและรอคอยอย่างมีสติ เพราะสังคมเช่นนี้จะเป็นสังคมที่เป็นพื้นฐานให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มั่นคง มองการณ์ไกล มุ่งมั่นและมี 'กึ๋น' พอที่จะวางฐานรากที่แข็งแรงให้กับประเทศชาติไม่ว่าจะเป็นฐานรากทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ไม่มุ่งแต่จะเอาใจประชาชนแบบตื้นเขินให้เห็นผลทันตาเพียงเพื่อรักษาหน้าหรือสร้างบารมีเพื่อปูทางไปสู่อำนาจโดยใช้กลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ ซึ่งในที่สุดสัญญาประชาคมที่ให้เพื่อเอาใจประชาชน ก็อาจจะกลายเป็นการสร้างปัญหาระยะยาวอันสาหัสให้กับประชาชนและประเทศชาติ หากนำมาปฏิบัติจริง


ข้าพเจ้าหวังที่จะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่หนักแน่น เป็นสังคมที่เห็นคุณประโยชน์ของรัฐธรรมนูญใหม่ในการตรวจสอบรัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานของทั้งรัฐและเอกชน เป็นสังคมที่ไม่เอาแต่เรียกร้อง แต่รู้จักที่จะให้ รู้จักที่จะร่วมมือร่วมใจสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรม


อย่างที่ว่าไว้แล้วว่าเมื่อตั้งความหวัง ก็เกิดเป็นห่วงกลัวว่าจะไม่เป็นไปตามหวัง อันที่จริงถึงไม่เป็นไปตามความหวังทั้งหมด จะเป็นไปตามนั้นบ้างก็ยังดี จะมองในแง่ดีว่าขึ้นบันไดทีละขั้น


 

จาก: ส่วน จุดประกาย หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 มกราคม 2544


Comments


Final Logo.png

ที่อยู่:
Bangkok Thailand

Email: 

ส่งข้อความหาเรา
แล้วเราจะติดต่อกลับในไม่ช้า

ขอบคุณสำหรับการติดต่อ

bottom of page