จรัล มโนเพ็ชร
การอ่านบทกวี หลายคนฝันอยากให้เป็นไปได้ตามแบบที่ควรจะเป็น แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นกระทำจากความฝัน ก็มีการสานต่อกันมา หลายคนคงได้ชม ได้ฟังการอ่านบทกวีใน คอนเสิร์ตเบิกหล้าฟ้าใหม่ของเมืองไทยประกันชีวิต ที่เหล่าศิลปินมาร่วมกันในลักษณะไทยๆ ของบทกวี บทเพลง ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นจรัล มโนเพ็ชร, คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน, ดนู ฮันตระกูล, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นรินทร ณ บางช้าง และอีกมากมายหลายท่าน
มาร่วมกันสร้างรูปแบบความเป็นไทย และเผยแพร่การอ่านบทกวีให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แตกต่างจากบทประพันธ์ประเภทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน อันมีโครงสร้างแข็งแรงยาวนานมากกว่า 200 ปี มาเป็นลักษณะที่เรียกกันว่ากลอนเปล่า สวยในคำ ชัดในการสื่อความหมายในคำธรรมดานั้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาษาเจริญงอกงาม มีความหมายตามจินตนาการมากขึ้น...เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งของคนช่างฝัน...
บทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร หลายคนก็กล่าวว่าเป็นบทกวี แต่เจ้าตัวยังไม่มีบทสรุปให้กับสิ่งที่ทำอยู่ในบทเพลงพื้นบ้านหรือบทเพลงแห่งความรักว่าเป็นบทกวี เพราะบทกวีมีความหมายกว้างมาก ทั้งคำประพันธ์ร้อยแก้ว หรือร้อยกรอง ต่างก็เป็นบทกวีได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะสื่อความหมายได้มากน้อยเท่าใดต่างหาก ยังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไปอีก แต่ที่แน่ๆ คือผลงานเพลงบรรเลงแบบพื้นบ้านได้ถูกทำขึ้นมาแล้ว... ลำนำแห่งขุนเขา ด้วยการบรรเลงของซิมโฟนีขนาดกลาง รวมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ควบคุมวงโดยอาจารย์ดนู ฮันตระกูล ใครสนใจรอฟังกัน...ราวเดือนเมษายนได้ฟังแน่ค่ะ
“ต้นหญ้าต้นหนึ่งอยู่ใต้ก้อนหิน ไม่งอกเพราะไม่ได้รับแสงแดด วางอยู่ข้างทางที่ควายตัวหนึ่งจะเดินอยู่ประจำ มีอยู่วันหนึ่ง...ควายตัวนั้นเดินเตะก้อนหินกระเด็นออกมา พื้นดินตรงนั้นจึงได้รับแสงแดด ต้นหญ้าก็งอก เติบโตอย่างสมใจที่รอมานาน มีความสุขอยู่กับแสงแดดและโลกรอบ ๆ ตัวมันเอง พอพระอาทิตย์ตกดิน ควายตัวเดิมก็เดินกลับบ้าน เห็นต้นหญ้า...ก็แปลกใจว่าเอ๊ะ...มาจากไหน ใบเขียวสะพรั่งเชียว ก็กินเสียเลย”
กวีบทนี้จบลงด้วยความสุขและความเศร้าในเวลาเดียวกัน ความสนุกนึกในจินตนาการของคนคิด...จรัล มโนเพ็ชร เราคนอ่านก็เพลินไปด้วย
จาก: คอลัมน์ บันทึกความเคลื่อนไหว ในนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 146 มีนาคม 2532
Comments