ดิน มือ ใจ และ ไฟ
โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
ดอกต้อยติ่งเป็นดอกไม้ไทยที่ขึ้นเองตามชายน้ำ ตามริมทาง ไม่มีใครคิดนำไปปลูกในสวน หรือประดับห้อง มีแต่เด็กๆ ชอบเอาเม็ดมันโยนน้ำ ให้แตกทำเสียงเป๊าะแป๊ะ …แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งนำไปปักแจกันที่เธอบรรจงปั้น ถ่ายรูปมันไว้ เรียงร้อยถ้อยคำง่ายๆ แต่งดงามให้คนได้ชื่นใจ
“ต้อยติ่งดอกหนึ่ง
เก็บจากริมทาง
ร้อยดอกเบ่งบาน
กลางใจ”
เธอชื่อปานชลี สถิรศาสตร์ ผู้หญิงคนนี้เป็นศิลปิน สร้างงานศิลปะเครื่องถ้วยดินเผา ข้าพเจ้ารู้จักมานานพอที่จะรู้แน่ว่าเธอ มีหัวใจที่ “สงบงาม” เหมือนทุ่งดอกไม้ในสายลมอ่อน ใต้แสงแดดบาง อุ่นกำลังพอดี
“สงบงาม” เป็นคำของเธอเอง ข้าพเจ้าเคยพยายามหาถ้อยคำมาอธิบายงานของปานชลี แต่ก็ไม่เคยได้คำที่ตรงใจ จนกระทั่งมาเห็นคำนี้ในสูจิบัตรนิทรรศการงานของเธอ ชื่อ “เวลาอันแสนสุข” ซึ่งจัดแสดงที่สยามซิตี้ ในครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคมนี้
“เมื่อท้องหิว ได้กินอิ่ม
นับเป็นความสุขเบื้องแรก
ความสุขนั้นจะสำราญยิ่งขึ้น
เมื่ออาหารที่ปรุงด้วยรสมืออันวิเศษ
จัดวางบนภาชนะที่มีความสงบงาม…”
นานหลายปีกว่าเธอจะนำผลงานศิลปะที่เรียบง่ายจากเตาเผาของเธอ มาให้คนชมสักที
ข้าพเจ้าเห็นงานปั้นของ ปานชลี เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้ว ที่ โรงแรมอิมพีเรียลควีนสพาร์ค เพราะได้รับเชิญให้ไปเป็นประธานเปิดงาน โดยที่ยังไม่เคยรู้จักตัวศิลปินหรือผลงานมาก่อน เป็นการจัดนิทรรศการครั้งแรกของเธอ
สมัยนั้นกรุงเทพฯยังอยู่ในยุคเศรษฐกิจทองชุบ ที่รถติดจนการจราจรไทยเลื่องระบือลั่นโลก ส่วนคนขับรถข้าพเจ้าในช่วงนั้นก็เป็นหนุ่มอิสานแสนดี แต่สับสนงงงวยเต็มทีกับถนนหนทางในเมืองหลวง ทำให้ข้าพเจ้าจำต้องสละรถยนต์กลางทาง เพื่อเกาะท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้างซอกแซกแซงรถ ไปตัดริบบิ้นเปิดงาน
“ความสงบงาม” ของเครื่องถ้วยดินเผาปานชลีทำให้ความกระหืดกระหอบ ความร้อนแดด ความเมาคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ มลายหายไปได้อย่างประหลาด
มานิทรรศการครั้งที่ 3 นี้ ความสงบงามที่เคยพบเห็น มีมิติอันลึกและนิ่งยิ่งกว่าเดิม รูปทรง พื้นผิว สีสันมีความหลากหลาย น่าสนใจยิ่งขึ้น (ความจริงไม่อยากใช้ “สีสัน” เพราะฟังดูตรงชัดเกินไปสำหรับความหนักนุ่มที่ปรากฏกับตา) ในหลายๆ ชิ้นงาน เม็ดทรายแสดงตัวอย่างเปิดเผย บอกให้รู้ว่าพื้นผิวที่ขรุขระก็บอกเรื่องราวที่สง่าน่ารับรู้ได้ ไม่น้อยกว่าผิวเคลือบที่นุ่มนวล
สำหรับปานชลี ศิลปะกับเวลาไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย ความสุขกับการสร้างงาน ทำให้ปัจจุบันมีค่าจนเวลาหมดความสำคัญ กับคำถามว่า งานนิทรรศการครั้งแรกและครั้งที่สอง ผ่านมากี่ปีแล้ว เธอได้แต่ขมวดคิ้วส่ายหน้าตอบว่าจำไม่ได้
เครื่องถ้วยเป็นศิลปะในชีวิตประจำวันมานานนับร้อยนับพันปี ไม่ต้องดูอื่นไกล แค่บ้านเชียงและสังคโลกของไทยเราก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ศิลปะกับการใช้ชีวิตของมนุษยชาติไม่เคยแยกกันออกได้
และก็คงปฏิเสธยากว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเช่นใด ความละเอียดของประสาทสัมผัสทั้งด้านกายใจ ก็จำเป็นในการดำรงไว้ซึ่งวุฒิภาวะทางอารมณ์ ตลอดจนเสริมสร้างความลุ่มลึกของสติปัญญาความนึกคิดเช่นนั้น และสิ่งเหล่านี้คือแรงขับเคลื่อนของสังคมและวัฒนธรรม
ปานชลีเน้นว่างานของเธอมิได้ทำขึ้นเพียงเพื่อเก็บในตู้โชว์ หากเพื่อรับใช้ชีวิตให้เกิดความสุขทางตาทางใจในการดื่มกิน ระหว่างคนที่มีความสัมพันธ์อันอบอุ่นต่อกัน โดยฉะเพาะอย่างยิ่งในครอบครัว เธอจึงตั้งชื่อ นิทรรศการครั้งนี้ว่า “เวลาอันแสนสุข” และในภาษาอังกฤษ “Table Time” ซึ่งหมายถึงเวลาที่นั่งร่วมโต๊ะอาหาร
ในต้นคริสศตวรรษที่ 18 เมื่อพระราชินีแอน ผู้ครองราชบัลลังค์อังกฤษได้ทรงลิ้มรสน้ำชงจากใบชาของ ศรีลังกาหรืออินเดียไม่แน่ชัด ทรงโปรดปรานมากจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่นำสมัยในราชสำนัก และในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 1 กษัตริย์องค์ถัดมา ก็เกิดวัฒนธรรมการเลี้ยงน้ำชาตอนบ่ายในสังคมชั้นสูงของประเทศทางตะวันตก โดยเริ่มจากอังกฤษและเยอรมัน การดื่มชากลายเป็นเรื่องของการสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข่าวสาร วิพาทย์วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ จนตกเป็นมรดกทางสังคมมาจนทุกวันนี้
ข้าพเจ้าก็ยังติดจะคิดแบบตะวันตกเช่นนี้ จนกระทั่ง ปานชลี บอกให้ลองนั่งจิบชาเงียบๆ คนเดียว ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติดูบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสตัวเองเปิดรับความรู้สึกถึงอุณหภูมิ ให้รับรู้สัมผัสรูปทรงและพื้นผิวของถ้วยชาในอุ้งมือ (ถ้วยชาของปานชลี ไม่มีหูจับอย่างถ้วยน้ำชาของตะวันตก) เปิดรับรู้สัมผัสของริมฝีปากกับขอบถ้วย ลิ้มรสน้ำชาที่กำลังจิบ ตลอดจนสัมผัสของนาสิกประสาทกับกลิ่นชา
ความสุขและความรุ่มรวยจากการได้รู้ ได้สังเกต ได้คิด ในขณะที่ทำตามคำแนะนำนี้ ทำให้อยากแนะนำต่อให้คนอื่นๆ ลองกันบ้าง จะไม่ชี้แนะ เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันออกไป
“ยามตะวันหลับใหล
ทะเลยังตื่น
ขับกล่อมราตรี”
นี้เป็นอีกบทจากสูจิบัตร “เวลาอันแสนสุข” ตั้งแต่แรกเริ่มข้าพเจ้าบอกปานชลีว่า งานเครื่องปั้นดินเผาของเธอเป็นงานกวีที่ไร้คำ จึงไม่แปลกใจที่เห็นเธอเริ่มปั้นงานคำออกมาในลีลาเรียบง่ายลงตัว เหมือนงานดินเผาของเธอ แทบจะพูดได้ว่าเป็นสองหน้าของงานเดียวกัน
จากจุดนี้ ความรู้สึกผุดขึ้นในใจข้าพเจ้าว่า งานปั้นดินเผานั้น เป็นงานที่เริ่มด้วยดินกับน้ำ มือศิลปินซึ่งปั้นตามการสั่งของใจ ปล่อยให้แห้งคงรูปด้วยลม ก่อนที่จะไปเสร็จสิ้นขบวนการที่การเผาด้วยไฟ … ดิน น้ำ มือ ใจ ลม ไฟ… เป็นงานที่ผสานธาตุ 4 กับธรรมชาติมนุษย์ในส่วนสร้างสรรค์
ไฟ คือส่วนที่น่าสนใจ เพราะไฟไม่อยู่ในอาณัติของใคร ตัวศิลปินควบคุมได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น การเผางานแต่ละครั้ง ทำให้สีสันในการเผาแต่ละครั้งออกมาไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเพียงความร้อน หากมีธรรมชาติอื่นๆ ของการเผาไหม้เข้ามาให้ผลด้วย ในสมัยโบราณการเผาด้วยไม้ที่มาจากพืชพันธ์ไม้ที่ต่างกัน ขึ้นในดินฟ้าอากาศที่ต่างกัน จะส่งผลให้ตัวเคลือบออกสีต่างกันไป และบ่อยครั้งเครื่องปั้นจะเบี้ยว หรือร้าว โดยแตกต่างจากที่ศิลปินตั้งใจไว้
ข้าพเจ้ามาคิดว่า ในงานเขียนเราสามารถสร้างประโยค เลือกคำ แก้ไขขัดเกลา หยุดแก้เมื่อไรก็คงอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สำหรับศิลปินดินเผา เมื่อส่วนที่ทำด้วยมือเสร็จ ก็ยังจะต้องมีเรื่องของไฟตามมา เผาเสร็จรอจนเย็นแล้ว เมื่อเปิดเตาเอาออกมาใจก็คงจะระทึก ด้วยไม่รู้แน่ว่า จะออกมาเพี้ยนหรือไม่อย่างไรจากที่ตั้งใจ จะมีรอยมีร้าวบ้างหรือไม่ ตรงไหน
อย่างนี้กระมังที่ทำให้ปานชลี เยือกเย็น ทำงานอย่างสงบ ไม่คำนึงถึงเวลาที่ผ่านไป เพราะใจเธอคงชินกับการยอมรับในสิ่งที่นอกเหนือการควบคุม สนุกกับการไม่คาดคะเน เธอมองความร้าวบางรอยว่าสวยงาม เพิ่มคุณค่า ความน่าสนใจ
ทำให้เราคิดเลยไปถึงชีวิต ใครเล่าที่มองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมา แล้วเห็นว่าเหมือนแผนภูมิที่ได้วางไว้ตามใจหมายไปเสียทุกอย่าง คงจะมีบ้างที่บิดเบี้ยวเพี้ยน หรืออาจจะมีที่ดีเกินคาดฝันในบางด้าน
เห็นจะไม่ผิดอะไรที่เราจะบรรจงปั้นชีวิตในแต่ละวัน ขึ้นรูป เคลือบสีตามที่ใจคิดอยากจะให้เป็น แต่ก็คงต้องพร้อมที่จะยอมรับส่วนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
ชีวิตที่ขรุขระ ผ่านไฟร้อนจนเกิดรอยร้าว ไม่ลงตัวทีเดียวนั้น อาจมีคุณค่า และความงดงามด้วยการเรียนรู้ มากกว่าชีวิตที่สุขสมบูรณ์ จนไม่ต้องดิ้นรนเพื่อค้นหาสัจธรรมด้วยซ้ำไป ใครจะรู้
จาก : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันจันทร์ 18-25 พฤษภาคม 2542
ภาพ : งานนิทรรศการ “สรวลสรร จำนรรจ์ชา” รื่นรมย์ในวิถีแห่งชา ศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2554 ใน https://mgronline.com/celebonline/detail/9540000113023
Comments