top of page

ครั้งหนึ่งในแววตา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุทัย รัตนิน

โดย: ลาซัง



เคยคิดเล่นๆ ดวงตาของคนเราเป็นอะไรได้มากกว่าอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่จะเป็นอะไรนั้นบอกกันแบบซื่อๆ ว่า “ไม่รู้” รู้แต่ว่าเมื่อทุกคนมีดวงตาก็รักดวงตา ว่ากันว่าดวงตาเป็นภาษาใจ (กำลังพูดอะไรที่เชยๆ) บางคนมีดวงตาที่เจ็บป่วย อิดๆ ออดๆ ทำทีเป็นโรคตาแดง ทั้งที่ไม่ได้แกล้งอกหักสักนิด บางคนตาช้ำตาเขียวขึ้นมาโดยไม่รู้สาเหตุ เพราะไม่เคยยื่นหน้าไปให้นักมวยคนไหนทิ่มหมัดใส่กระบอกตา ทว่าตาก็บวมๆ ทำท่าจะปิดเสียให้ได้ บางทีก็ปรือๆ ราวกับจะเดินหลับ พาลให้นึกโทษดวงตาว่าเกียจคร้านที่จะดูโลก โลกที่เต็มไปด้วยสายตาของคนอื่นกำลังจ้องมอง หลบเข้าไปในห้องน้ำเผลอๆ ยังเจอสายตา พูดถึงดวงตา พักนี้ไม่รู้เป็นไง ตาคงไม่ดูตาม้าตาเรือ ศีรษะเลยโครมเข้ากับฝากระจกอยู่ร่ำเรื่อย หลายคนที่แพรวเป็นห่วง “อีตาลาซังไปหาหมอตาได้แล้ว”

วันนี้ถึงได้ไปหาหมอตา ศาสตราจารย์นายแพทย์อุทัย รัตนิน เป็นจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียงมานาน หากเก็บตัวเงียบอยู่ในวงนักวิชาการการแพทย์มากกว่าที่จะเผยตัวในวงสังคมอื่นๆ ด้วยเหตุผลบางอย่าง


“มีบางสิ่งที่เกี่ยวกับการแพทย์ อาจเป็นไปในทำนองโฆษณาตัวเอง เพื่อให้มีคนไข้มากขึ้น ผมรู้สึกไม่ค่อยดีกับสิ่งนี้ ในใจของผมจะนึกอยู่เสมอ ถ้าคนที่มีความรู้ความสามารถจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องพูดอะไรมาก”

มีคนพูดกันว่าหมอหรือแพทย์ยุคนี้ทำการรักษาคนไข้ในแง่การค้ามากกว่าเหตุผลอื่น จนคุณหมอบางรายกลายเป็นหมอนก

“บางทีผมเจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาเองไม่ได้ แต่ไม่มีเวลาไปสืบเสาะว่าหมอคนที่จะรักษาเราดีหรือไม่ดี แล้วนับประสาอะไรกับคนป่วยทั่วๆ ไป เขายุ่งงานของเขา บางคนไม่มีเวลาเหมือนที่ผมไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อเขาป่วยเขานึกชื่อหมอคนไหนได้ เขาจะไปรักษากับหมอคนนั้น หมอบางคนมีความรู้ ความสามารถปานกลาง แต่เป็นข่าวบ่อยก็ได้คนไข้ไม่แพ้หมอเก่งๆ”

หมอก็ทำมาหากินเหมือนกับผู้คนในแวดวงอาชีพอื่น


“ในวงการแพทย์จักษุ เรารู้กันว่าแพทย์คนไหนมีฝีมือหรือไม่มีฝีมือ เพราะคนไข้บางรายจะเป็นคนเชื่อมถึงกันตลอด อย่างเช่นรักษาจากหมอคนโน้นแล้วไม่หาย มาหายกับหมออีกคน”

เสียเงินเสียทองเท่าไหร่ไม่เสียดาย ขอให้โรคที่เป็นอยู่นั้นหายเถิด คนไข้ยอมทุกอย่าง ยอมเปลี่ยนหมอเปลี่ยนคลินิก

รัตนินจักษุคลินิก คือคลินิกที่คุณหมออุทัยประจำอยู่ มีฐานะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง เพราะมีเตียงคนไข้ถึง 26 เตียง และรักษาโรคที่เกี่ยวกับสายตาเพียงอย่างเดียว ซึ่งดูเหมือนโรงพยาบาลรักษาโรค เฉพาะทางในเมืองไทยจะมีอยู่สักแห่งสองแห่งเท่านั้น


“ผมเกิดปี 2472 ที่โรงพยาบาลอยุธยา”

นับวัย 60 ปี คุณหมอย้อนอดีตของตัวเองก่อนที่จะมาเป็นจักษุแพทย์ เริ่มนับตั้งแต่คุณปู่ชื่อ อินป็นหมอแผนโบราณ มีร้านขายยาไทยที่เป็นเรือนแพอยู่ที่ผักไห่ ชื่อคุณปู่ผสมกับ “รัตน” มาเป็นนามสกุลที่รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 6


“ครอบครัวผมเป็นแฟมิลี่หมอ ผมเป็นช่วงที่สาม ช่วงที่สองคือคุณพ่อของผมซึ่งเป็นนักเรียนแพทย์ศิริราชรุ่นแรกๆ สมัยเมื่อยังไม่มีปริญญา คุณพ่อเรียนจบแล้วกลับบ้านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัด ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นขุนเวชชรัตนรักษาประจำที่อยุธยาจนเกษียณอายุ โดยไม่เคยย้ายไปไหน ส่วนคุณแม่ผมเป็นพยาบาล เป็นนักเรียนพยาบาลศิริราชรุ่นหลังคุณพ่อไม่กี่ปี”

ภาพจากหนังสือนัยน์กาย นัยน์ใจ


ครอบครัวขุนเวชชรัตนรักษามีลูกเจ็ดคน คุณหมออุทัยเป็นลูกชายคนโต ซึ่งเมื่อเรียนจบมัธยมแปดแล้วสอบเข้าจุฬาฯ ก็ถูกขอร้องจากคุณพ่อให้เลือกเรียนแพทย์ ทั้งที่ในใจตอนนั้นนึกเลื่อมใสตัวคุณอาที่สำเร็จ วิศวฯ จากจุฬาฯ กำลังดำเนินงานธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลทางแถวอีสาน ยุคนั้นเป็นยุคที่โรงงานน้ำตาลกำลังเฟื่องฟู


“ผมเรียนแพทย์จบ ถึงวันที่จะรับปริญญาแต่ไม่ได้รับ เพราะก่อนหน้านั้นผมบอกกับคุณพ่อว่า ผมเรียนแพทย์จบแล้ว คราวนี้ผมขอเรียนตามใจที่ผมชอบบ้าง”

วันที่เพื่อนนักเรียนแพทย์ด้วยกันรับปริญญา เป็นวันที่คุณหมออยู่บนเครื่องบินกำลังดิ่งไปที่ออสเตรเลียเพื่อเรียนวิศวฯ ด้วยยอมแล้วว่าจะไม่เอาดีทางแพทย์ แต่เมื่อไปถึงหนึ่งปีที่เมืองเมลเบิร์น และเมืองบริสเบน การเรียนวิศวฯของบัณฑิตแพทย์ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ล้มเหลวโดยระบบการเรียนการสอนที่ไม่ คุ้นเคย พอๆ กับที่ต้องทนสายตาเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ที่เฝ้ามองอย่างกึ่งๆ ดูถูก ราวกับไม่เชื่อว่านักศึกษาจากดินแดนตะวันออกไกลจะเป็นคนที่เคยเรียนแพทย์มาก่อน


“แค่สองเดือนแรกผมรู้สึกอึดอัดกับการเรียนวิศวฯ ไม่เหมือนกับที่เรานึกฝันเอาไว้ ผมเลยตัดสินใจกลับมาเรียนหมอใหม่ แต่ไม่กลับมาเมืองไทย บินไปที่นิวยอร์ก ติดต่อผ่านเพื่อนรุ่นที่ที่อยู่ที่นั่น ผมไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่นิวยอร์ก ตอนที่จบจากศิริราชยังไม่ทันฝึก เพราะนึกตอนนั้นว่าจะไม่เอาดีทางแพทย์แน่ ๆ”


แพทย์ฝึกหัดที่นิวยอร์กเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติจริงกับคนไข้ มีเงินเดือนให้นิดหน่อย คล้ายเป็นค่าอาหาร ค่าตั๋วหนังตั๋วละครเดือนหนึ่งก็ร้อยเหรียญ กระนั้นก็ยังต้องพึ่งทางบ้าน แพทย์ฝึกหัดนั้นต้องเข้าเวรเหมือนแพทย์ทั่วไป หมุนเวียนไปตามแผนกต่างๆ

“ตอนเลือกสาขาเรียน ผมชอบทางผ่าตัด ชอบทางยาด้วย ยานี่ก็น่าเรียน คิดว่าจะเรียนสาขาที่ได้ทั้งผ่าตัดและให้ยา ซึ่งก็มีจักษุนี่แหละเป็นวิชาหนึ่งที่เดินออกมาในความรู้สึกของผม ทั้งที่สมัยนั้นที่เมืองไทยเขานิยมหมอเด็กกันมาก”

ความนิยมเกี่ยวกับหมอเด็กในสมัยนั้นเป็นเพราะ อาจารย์อรุณ เนตรศิริ เพิ่งกลับมาจากเมืองนอก แล้วเป็นคนสร้างแผนกเด็กขึ้น เป็นแผนกใหญ่ในศิริราช ต่อมาตั้งเป็นภาควิชา อาจารย์อรุณเป็นคนสอนเก่งรักษาโรคก็เก่ง มีลูกศิษย์ที่นิยมชมชอบในตัวอาจารย์อรุณ ถึงกับเลือกเรียนกุมารฯ จนกลายเป็นค่านิยม


“ผมไม่ชอบที่จะเรียนจิตวิทยา เพราะตอนที่เรียนอยู่ศิริราช ภาพของจิตแพทย์ยังไม่ชัด ก่อนอาจารย์อรุณจะมา สมัยนั้นที่ศิริราชแทบไม่มีจิตแพทย์ด้วยซ้ำไป ต้องไปเรียนกับอาจารย์ฝน แสงสิงแก้วที่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จ...ก็ไปเรียนกับท่าน แต่ไม่ลึกซึ้งนัก เพราะเวลาเรียนมีไม่กี่ชั่วโมง ไม่นึกชอบเรียนเอาแค่สอบผ่าน”

จากแพทย์ฝึกหัดที่ Mount Vernon Hospital อีกหนึ่งปีถัดมา คุณหมอเป็นคนต่างชาติเพียงคนเดียว จากจำนวน 40 คนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นแพทย์ประจำบ้านของ New York Eye and Ear Infirmary โรงพยาบาลนี้มีลักษณะคล้ายกับ nonprofit organization ซึ่งคุณหมอบอกว่า


“มูลนิธิในเมืองไทยยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นล่ำเป็นสันขนาดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาได้ แต่ที่โน่นทุนรอนของมูลนิธิเขาเยอะแยะ พอกพูนความรู้ทางวิชาการได้มาก เครื่องมือก็พร้อมเพรียง เขามีเลเซอร์ห้าเครื่องตั้งเป็นแถวให้แพทย์ใช้ ขณะที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในบ้านเรามีเพียงเครื่องเดียว (ที่คลินิกของคุณหมอมีอยู่ด้วยหนึ่งเครื่อง) และคนไข้ที่มารักษาก็จ่ายค่ารักษาไม่แพง เขามีกฎเกณฑ์อะไรที่แน่นอนตายตัว อย่างปีแรกนี่ปล่อยให้เรียนด้านทฤษฎีจนเต็มที่ พอปีที่สองเปิดโอกาสให้ผ่าตัดได้ในระดับจูเนียร์แพทย์ที่เรียนจบไปแล้ว จะมาแย่งคนไข้ไปผ่าตัดไม่ได้ ครั้นถึงปีสามเขาปล่อยเราเต็มที่ ให้ความสำคัญเท่ากับ หมอตาคนหนึ่ง ตอนอยู่ปีสามผมผ่าตัดคนไข้เยอะ ได้ประสบการณ์ดีๆ มาจากที่นั่น”

แรกๆ เมื่อซ้อมการผ่าตัดดวงตา คุณหมอเล่าว่า ตากระต่าย ตาหมู เป็นครูเป็นอาจารย์ให้เลยทีเดียว ฝรั่งไม่กินดวงตาของสัตว์ จึงเอาดวงตาของสัตว์มาผ่าตัด ก่อนที่จะผ่าตัดดวงตาของคนจริงๆ แพทย์พี่เลี้ยงจะแนะนำหรือสอนให้แบบจับมือให้ผ่าตัด


“ผ่าตัดตาคนรายแรกๆ รู้สึกไม่ค่อยคุ้น ใจเต้น ตื่นเต้นอยู่เหมือนกัน อาศัยพื้นฐานวิชาการและการฝึกซ้อมที่แน่นเลยไม่ถึงกับเกร็งมาก ทุกอย่างเมื่อถึงตอนนั้นไม่มั่นใจก็ต้องมั่นใจ ซึ่งเผอิญว่าผมโชคดีอยู่อย่าง ตอนเด็กๆ ประเภทเย็บปักษ์ถักร้อยนี่ผมทำได้ หรือการแกะเม็ดมะขามเทศ ไม่ทราบว่าคุณเคยแกะหรือเปล่า คือเราจะแกะเอาแต่เปลือกดำออก เหลือแต่เปลือกน้ำตาล ต้องค่อยๆ แกะ ต้องใจเย็นมากถึงจะแกะได้ เพราะถ้าเผลอนิดเดียวเปลือกน้ำตาลก็จะออกมาพร้อมกับเปลือกดำ นิสัยเหล่านี้ติดมาตั้งแต่เด็ก”

เด็กอย่างเราไม่เคยแกะเปลือกเม็ดมะขามเทศอย่างที่คุณหมอว่า นอกจากจะปอกๆ แล้วใส่เข้าปาก...สามปีเมื่อจบแพทย์ประจำบ้าน คุณหมอยังไม่ได้กลับเมืองไทย เพราะตอนนั้นแม้ฝรั่งเองความรู้เกี่ยวกับเรื่องตายังมีไม่มาก ยังไม่มีแพทย์คนไหนทุ่มเทตัวเองลงไปศึกษาค้นได้จริงจัง


“ผมสนใจที่จะค้นคว้าเรื่องตาให้กว้างขวางออกไปอีก ปกติดวงตาของคนเรามีอยู่สองส่วน (จังหวะนี้พอดีที่คุณหญิงจำนงศรีภรรยาของคุณหมอเข้ามา ถึงกับบอกว่าให้เตรียมปากกา กระดาษ คอยเล็คเชอร์ คุณหมอกำลังว่าด้วยหลักวิชาการ...เมื่อคุณหมอถูกแซวจากคนใกล้ชิดก็อดไม่ได้ที่จะยิ้มและหัวเราะ)...คือดวงตาด้านหน้ามักจะเป็นโรคต้อกระจก และต้อหิน อีกส่วนเป็นดวงตาด้านหลัง ดวงตาด้านหลังไม่ค่อยมีใครเรียนรู้ ผมสนใจส่วนนี้มาก ตั้งใจไว้เลยต้องเรียนให้ทะลุปรุโปร่ง บ้านไม่ต้องรีบกลับ เพราะไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ผมเลยไปเรียน คราวนี้ไม่ได้เรียกแพทย์ประจำบ้าน แต่เรียก Fellow ที่ Massachusetts Eye and Ear Infirmary, Harvard University อยู่กับดวงตาด้านหลัง เรียนเกี่ยวกับดวงตาด้านหลังโดยตรง เรียนอยู่หนึ่งปี จบแบบไม่สมบูรณ์


“คือผมเป็นคนต่างชาติ สมัยนั้นเขากีดกันอยู่อย่างหนึ่ง เขาไม่ให้คนต่างชาติสอบ American Board of Ophthalmology เขากลัวว่าเราจะไปแย่งเขาทำมาหากิน ผมมานั่งคิดดู การที่เราจะกลับเมืองไทยมือเปล่าก็ดูกระไรอยู่ ผมบอกตัวเองว่าเราเรียนปริญญาอีกอย่างก็แล้วกัน คือทางตามีปริญญา M.S.C ซึ่งบังเอิญว่าผมทำคะแนนไว้ค่อนข้างดีตอนที่เรียนเป็นแพทย์ประจำบ้าน เขาบอกว่างั้นทำรีเสิร์ชมาก็แล้วกัน เขาจะให้ดีกรีเรา โดยมีเงื่อนไขว่าจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ แพทย์ที่เป็นหัวหน้ายื่นโปรเจ็คท์หนึ่งมาให้ผม ซึ่งผมก็ไม่เร่งรีบทำมากนัก รีเสิร์ชชิ้นนี้เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ทำให้ผมกลับไปอเมริกาอีกสองครั้ง”

ไม่ใช่รีเสิร์ชชิ้นนี้จะมีปัญหา แต่เป็นรีเสิร์ชที่คุณหมอบอกว่า


“เป็นรีเสิร์ชที่ไม่มีใครทำมาก่อน เพราะยากมาก เกี่ยวกับโครงสร้างของดวงตาด้านหลัง ดวงตาซีกหลังถูกวาดขึ้นครั้งแรกในโลก เป็นรีเสิร์ชที่ทำให้ผมมีชื่อเสียงที่เมืองนอก ผมใช้เวลาหลายปี ตอนกลับเมืองไทยยังไม่ได้ดีกรี มาประจำที่ศิริราชสองปี นึกอยากจะทำมันอีกก็กลับไปใหม่ อยู่อีกปีหนึ่ง ไม่สำเร็จ กลับมาเมืองไทย อยู่ที่ศิริราชอีกสองปี คราวนี้ทางโน้นเขาขอตัวมาเลย รีเสิร์ชของคุณน่าสนใจมาก ขอให้กลับมาทำต่อ คราวนี้ทางศิริราชอนุญาตให้ไป แบบไม่ต้องมีใบลาราชการ กินเงินเดือนทั้งทางโน้นและทางนี้ เมื่อผมทำสำเร็จ เขาอยากให้เราอยู่ที่โน่นโอนสัญชาติไปเป็นของเขา ให้ทำงานคู่กับแพทย์ใหญ่ ซึ่งผมเองเกิดความรู้สึกที่ว่า ผมเป็นข้าราชการประจำที่เมืองไทย พ่อแม่พี่น้องของผมอยู่ที่นี่ ที่โน่นไม่ใช่บ้านของเรา”

ขณะนั้นคุณหมออายุ 34 ปี เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ในช่วงสุดท้ายของงานรีเสิร์ชที่กลับเมืองไทยแล้วพบกับคุณหญิง


“ผมมาเป็นหมอตาให้กับคุณพ่อของเขา”

แล้วคนไข้ก็กลายเป็นพ่อตาในเวลาต่อมา คุณหมอเล่าถึงความรักสมัยนั้นว่า


“ก็เป็นความรักธรรมดา (หัวเราะ) ไม่มีอะไรมาก รู้จักกันจริงๆ 6-7 เดือนก่อนที่จะแต่งงาน พบกันที่บ้านคุณพ่อเขา ตอนนั้นผมไปตรวจท่านที่บ้านเป็นระยะ เวลาไปเที่ยวหรือทานข้าวด้วยกัน ก็ไปกันเป็น กลุ่ม ครอบครัวเขาค่อนข้างจะกวดขันในเรื่องอย่างนี้ คือต้องเข้าใจว่าสมัยนั้นคนยังมีความคิดโบราณอยู่ หมั้นกันแล้วถึงได้รับอนุญาตให้ไป ต้องบอกว่าไปไหน เมื่อไรจะถึงบ้าน ซึ่งต่างกับเดี๋ยวนี้ ผมตามโลกไม่ค่อยทัน ได้แต่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลง เราอายุมากขึ้นได้แต่มองย้อนหลัง ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด การดำรงอยู่ของผู้คน ทัศนะของหนุ่มสาวสมัยนี้ที่มีต่อความรัก


“ฟัง ๆ เหตุผลของพวกเขาก็น่าสนใจนะครับ อย่างหนุ่มสาวยุคนี้ทดลองใช้ชีวิตร่วมกัน ก่อนที่จะแต่งงานโดยไม่มีใครเสียหาย ผมมานั่งนึกดู รู้สึกแปลกๆ จริงๆ แล้วไม่กล้าบอกว่ามันดีหรือไม่ดี การทดลองอยู่ร่วมกัน ลูกเต้าก็ไม่มีไปอีกนาน ชวนให้ผมสงสัยว่าต่อไปมนุษยชาติจะสูญพันธุ์ เพราะการทดลองอยู่ร่วมกันอย่างนั้น ต้องควบคุมไม่ให้มีลูก ยิ่งทดลองอยู่ร่วมกันไปเรื่อยๆ ลูกก็ไม่มี มนุษย์ก็ต้องหายไป (หัวเราะ)


“หรือผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่เปลี่ยนนามสกุล ไม่จดทะเบียนก็มี เมื่อสมัยที่ผมแต่งงานแม้แต่จดทะเบียนก็ต้องมีพยาน”

ความนึกคิดเหล่านี้แม้ว่าคุณหมอจะเป็นนักเรียนแพทย์ที่จบมาจากนอก แต่ก็ไม่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตกให้มาปะปนกับวิถีชีวิตชาวตะวันออก ด้วยส่วนหนึ่งไม่มีเวลาที่จะไปใส่ใจ เนื่องจากต้องมุ่งมั่นกับการเรียน และทุ่มเทให้กับการงาน


“โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว” คุณหมอเผลอถอนใจ


“บางทีก็รู้สึกว่าผมอยู่กับโลกตัวเองมากเกินไป เพราะวันๆ หนึ่งผมสนใจอยู่กับคนไข้ รักษาคนไข้ให้ดีที่สุด ผมตื่นโมงเช้า สองโมงเข้าประจำคลินิก กลางวันรีบๆ ทานข้าว ลงงานต่อไปถึงสองทุ่ม ผมเป็นอย่างนี้มาเรื่อย”

คุณหมอออกสังคมแค่งานแต่งงาน งานศพ วันอาทิตย์มีเวลาว่าง ได้ขยับตัว ขยับมือตีกอล์ฟกับเขาบ้าง ไม่เล่นกอล์ฟก็ไปต่างจังหวัดกับครอบครัว


“ผมทำอะไรดูจริงจังไปหมด แม้แต่เรื่องที่จะให้สัมภาษณ์คุณ เมื่อคืนคิดนาน ก่อนหน้าก็คิดและสงสัย ทำไมคนเราถึงอยากรู้เรื่องของคนอื่น มีประโยชน์อะไรบ้าง มีบางคนบอกว่าทำให้คนรู้จักเรา ทำให้เรารู้จักคนอื่น ผมแย้งอีกนั่นแหละ ผมรู้จักคนไข้อยู่แล้ว จะรู้จักอะไรกันอีก” (หัวเราะ)

แต่ละวันคนไข้ของคุณหมอมีมาก คุณหมอเลี่ยงที่จะตรวจคนไข้โดยไม่มีบัตรคนไข้อยู่ข้างๆ เนื่องจากจำชื่อคนไข้ได้ไม่หมด เพราะถ้าทักทายอะไรออกไปแล้วผิดพลาด อาจเป็นความรู้สึกที่ว่าหมอไม่ได้เอาใจใส่คนไข้ ซึ่งสำหรับคุณหมอไม่ใช่อย่างนั้น ดูอย่างครั้งหนึ่งมีนางสาวไทยที่ได้รับตำแหน่งใหม่ๆ คนหนึ่งมารักษาที่คลินิก


“ผมเองไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร จำชื่อและจำใบหน้าไม่ได้ มีคนมาพูดถึงก็ยังนึกไม่ออกว่าเป็นคนไหน พอผู้ช่วยผมบอกว่าเขาเป็นโรคเกี่ยวกับตาอย่างนั้นอย่างนี้ ผมถึงนึกออก คนไข้รายอื่นๆ ก็เหมือนกัน ผมจำได้แต่แผลผ่าตัด ถ้ารู้โรคที่เกี่ยวข้องแล้วผมจะจำได้และนึกออกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ”

โดยสภาพของคุณหมอที่มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ร่วมงานเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่เป็นหัวหน้าภาควิชาจักษุที่รามาธิบดี ผู้ร่วมงานที่นั่งล้อมวงกินฝรั่งดอง เมื่อเห็นคุณหมอเดินเข้ามาฝรั่งดองแตกวง หรือเดินเข้าไปวงไหนที่กำลังซุบซิบกันอยู่ วงนั้นเป็นเงียบกริบ


“เพื่อนร่วมงานกลัวในความจริงจังต่อการงานของผมมากกว่าอะไรอื่น”

ช่วงการงานของคุณหมอที่โรงพยาบาลศิริราชรวมเวลาสิบปี สามปีหลัง คือหัวหน้าหน่วยจักษุประสาท ครั้นโรงพยาบาลรามาธิบดีก่อตั้งขึ้นมา คุณหมอก็ย้ายมาประจำที่รามาธิบดีโดยเป็นผู้บุกเบิกตั้งภาควิชาจักษุ ทำงานอยู่ได้อีกแปดปี จึงลาออกเนื่องจากเห็นว่าภาควิชาที่ก่อตั้งขึ้นเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ประกอบกับเหตุผลอะไรอื่นบางอย่าง


“เป็นเรื่องภาวะทางจิตใจ ขอบข่ายงานที่รับผิดชอบ คือการบริหารงาน ผมเป็นหัวหน้าภาควิชา แต่สิ่งที่ผมรักที่สุดคือการผ่าตัด การรักษาคนไข้ เวลาทั้งสองมันแย่งกัน ในส่วนของการบริหาร ผมลงไปทุกจุด ละเอียดในทุกๆ เรื่อง เครื่องไม้เครื่องมือมีครบหรือขาดหายไป ต้องคอยตรวจเช็คอยู่ตลอด ซึ่งมันทำให้ผมอารมณ์เสีย เครียดมาก และทำให้รู้สึกว่าเราห่างคนไข้ คนอื่นๆ เขาอาจไม่เป็น แต่ผมรู้สึกไปหมด ภาควิชาที่เข้าไปบุกเบิกมันเหมือนกับลูกของเราคนหนึ่ง”

ลูกคนหนึ่งที่ฟังดูเหมือนมันคอยเกเรและดื้อรั้นไปตามระบบราชการสมัยนั้น อันชวนให้ท้อแท้และเหนื่อยหน่าย ส่วน “รัตนินจักษุคลินิก” นั่นก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากเวลาหลังราชการ โดยช่วงแรกๆ เมื่อ 23 ปี ที่แล้ว ก่อนนั้นคลินิกคุณหมออยู่บนชั้นสองของร้านแว่นตาแถวสามยอด มีแพทย์จักษุประจำอยู่แค่สองคน ก่อนขยับขยายมาอยู่ที่สุขุมวิท 21 ในทุกวันนี้ ด้วยบุคลากรร่วมร้อยห้าสิบคน และกำลังจะกลายไปเป็นรูปแบบบริษัทขายหุ้น ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น คุณหมอบอกว่าจะปล่อยมือให้คนอื่นเขาทำ ทุกวันนี้คุณหมอก็ไม่ได้เป็นผู้บริหารโดยตรง แต่มีหลานชายเป็นผู้บริหารแทน


“โรงพยาบาลที่รักษาโรคเฉพาะทางเป็นของจำเป็น แน่นอนว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวกับตาเจริญก้าวหน้ารวดเร็วมาก และก็ราคาแพงเกินที่จะลงทุนโดยส่วนตัว จำเป็นต้องขายหุ้น ผมไม่เคยคิดว่า รัตนินจักษุคลินิกใหญ่โต แต่มันก็เป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรคที่จะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยทันกับความก้าวหน้าของการแพทย์ด้านจักษุ ผมถือว่าเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีต่อคนไข้ที่มาหาเรา”

บนเส้นทางการสร้างสรรค์วงการจักษุแพทย์อันยาวนาน คุณหมอเคยเป็นนายกของสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการวิชาการของสมาคมจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และปัจจุบันเป็นประธานธรรมการสอบแพทย์เฉพาะทางจักษุวิทยา

ตลอดเวลาที่ผ่านมาคุณหมอกล่าวในตอนท้ายว่า ผมได้ทำอะไรมาพอประมาณ


 

จาก: คอลัมน์บันทึกไว้ในแพรว นิตยสารแพรว ปีที่ 10 ฉบับที่ 230 ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2532

หมายเหตุ ภาพจากหนังสือ นัยน์ตา นัยน์ใจ ของรฤก งานพระราชทานเพลิงศพ ศาตราจารย์ นายแพทย์อุทัย รัตนิน ท.ช., ท.ม.,ท.จ.ว. ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2536


ดู 28 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page