คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
“ฉันชื่ออารยา ผู้ที่อยู่ระหว่างรอยต่อของฤดูร้อนกับใบไม้ร่วง... My name is Araya, and my life is at the point where summer’s end joins the autumn’s beginning…” เป็นประโยคเปิดเล่ม ส่วนปกหน้าหลังเป็นภาพศิลปินชื่ออารยาคนนี้ ในชุดดำ เดินเวียนวนอยู่ในห้องเก็บศพเหมือนวิญญาณติดโลก ศพใต้ผ้าคลุมสีขาวทอดเหยียดบนเตียงที่ตั้งเรียงราย บนเพดานไฟนีออนส่องแสงขาวเหมือนตั้งใจสะท้อนแถวเตียงเบื้องล่าง
หนังสือเล่มที่พูดถึงนี้คือสูจิบัตรนิทรรศการศิลปะจัดวางติดตั้ง(Installation) “ทำไมจึงมีรสกวีแทนการรู้เท่าทัน” หรือ 'Why Poetry Rather Than Awareness?' ของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ซึ่งแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติ เมื่อเร็วๆนี้ และบางส่วนกำลังจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่วมแสดงที่ San Francisco ในนิทรรศการชื่อ Time After Time ณ Center for the Arts, Yerba Buena เดือนเมษายน
(Three female scape,2002) ภาพจาก http://rama9art.org/araya/index.html )
ข้าพเจ้าไปดู ทำไมจึงมีรสกวีฯ ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ ในฐานะผู้แปลบทร้อยแก้วเชิงกวีของอารยาในสูจิบัตร
ดูแล้วก็เกิดความรู้สึกที่ปั่นป่วนปนเปยากที่จะอธิบาย ที่เด่นชัดก็คือ อึดอัด หดหู่ เศร้าหมอง ถึงแม้จะทึ่งในเนื้องานที่ละเอียดอ่อนไหว และความกล้าของศิลปินที่สื่อสิ่งที่อยู่ในใจด้วยวิธีการที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมสังคมส่วนใหญ่
นับเป็นประสบการณ์ทางศิลปะที่...แปลก... และรบกวนจิตใจ
การใช้ศพผู้หญิงวัยต่างๆ ในวิดิทัศน์ - ไม่ว่าจะเอาคลุมด้วยผ้าลายดอกไม้สีสดใส ปล่อยไว้ให้เท้ากับส่วนบนของใบหน้าโผล่ออกมาให้เห็น หรือเอามาวางทอดบนพื้นผ้าขาวในชุดในบางเบาเพื่อทาบทับด้วยเสื้อผ้าแสนสวยชุดแล้วชุดเล่า เหมือนแต่งตัวตุ๊กตากระดาษ ที่ฝรั่งเรียกว่า Barbie Dolls ทำให้เกิดคำถามในใจว่า นี่เป็นการขาดความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ หรือว่าสิทธิและศักดิ์ศรีที่ว่านี้หมดลงแล้วเมื่อสิ้นลมหายใจ
ถึงแม้คิดต่อไปว่า ‘ศักดิ์ศรี’ เป็นแค่สิ่งสมมุติที่อัตตามนุษย์สร้างขึ้นไม่ใช่หรือ แต่ก็ยังอึดอัดขัดใจ เมื่อมองลึกเข้าไปในความรู้สึกก็เห็นว่า เป็นเพราะไม่อยากให้ใครมาใช้ศพตัวเองหรือใครที่เรารักในลักษณะนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ‘ตัวกู’ นี้อัตตายังกล้าแข็ง! อาฮ้า...ใช่แล้ว ศิลปะยังคงทำหน้าที่ของมันเหมือนที่มันทำมานานนับพันปี คือทำให้มนุษย์รับรส รู้สึก รู้นึก รู้คิด ถึงแม้ว่าตัวศิลปินในกรณีนี้จะบ่งชัดด้วยชื่อนิทรรศการว่า ความสำคัญของงานเธอไม่ใช่ 'ความรู้เท่าทัน' หรอกนะ 'รสกวี' ต่างหากเล่า …รสกวีแห่งความรักกับความตายที่สานแทรกในเส้นใยชีวิต
อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ดูเหมือนจะอยู่กับความเศร้าอย่างคู่รักคู่รส เธอจึงเห่กล่อมแต้มแต่งซากศพ เหมือนจะพยายามใช้อารมณ์ไหวหวานของชีวิตยื้อมันไว้จากความเปื่อยสลาย
ในงานชุดนี้เธอสร้างพลังหลอนจากตะกอนลึกในใจ ด้วยการใช้ video installation ที่มีทั้งวิดิทัศน์สี และขาวดำ ภาพถ่าย ภาพร่าง (sketch) และเสียง ประกอบกันเป็นองค์รวมที่เพรียกให้เรารู้รับสีสันและอารมณ์ความตายบนขอบชีวิต และชีวิตบนขอบของความตาย
ชีวิตกับความตายไหลย้อยเข้าไปในพื้นที่ของกันและกัน เหมือนสีน้ำที่ระบายความหวานใสของมวลดอกไม้บนหลุมศพ หรือกลิ่นมัจจุราชสาบสางที่ลอยลอดเข้ามาในงานมงคล
อย่างเช่นในวิดิทัศน์ที่เห็นตัวเธอทัดดอกลั่นทม อ่านบทรักจากวรรณคดีให้ศพผู้หญิงที่เรียงรายอยู่ในจออื่นๆ พร้อมกับเสียงเสียงย่ำฆ้องและเพลงไทยขับครวญหวนโหย หวานจนเอียนเหมือนกลิ่นดอกไม้ใกล้เน่า
และในภาพถ่ายขาวดำเล่าขานชีวประวัติใครสักคน(คงไม่พ้นของตัวเธอเอง) ที่ความตายแต้มรอยไว้ทั่ว ศิลปินใช้พู่กันสีน้ำแต้มเสื้อผ้าผู้คน ทั้งในภาพหมู่งานสมรส และภาพทารกน้อยในอ้อมแขนแม่ที่เคยเป็นเจ้าสาว ดูแล้วก็อดไม่ได้ที่จะคิดโยงกับดอกไม้บนลายผ้าที่คลุมศพในวิดิทัศน์
เพียงแต่ว่าผ้าห่มศพนั้นสีสันสดใสจนแทบจะหลอกผีเสื้อได้ แต่การแต่งแต้มเสื้อผ้าคนเป็นในงานมงคลกลับถ่ายทับให้เป็นขาวดำ สำหรับภาพแม่ที่ยิ้มแย้มกับทารกในอ้อมแขนนั้น มีใบหน้าจากภาพฝาผนัง (mural) แบบล้านนามองมาจากริมกรอบเหมือนมัจจุราชยิ้มหยันรอเวลา
ภาพวิดิทัศน์หน้าต่างมีม่านบางห้อยให้ลมติง มองออกไปเห็นต้นลั่นทม และหนองน้ำแผ่นิ่งใต้ฟ้าหมอง มีเสียงธรรมชาติของชนบทที่งันเหงา แทรกด้วยเสียงหมาเห่าที่ก้องสะท้อนโหวงเหวง รำๆ ทำให้นึกไปว่ากำลังมองข้ามขอบเลือนที่ขั้นระหว่างคนเป็นกับร่างไร้วิญญาณ
ข้าพเจ้าคงพูดไม่ได้เต็มปากว่า “ชอบ” งานชุดนี้ จะตอบว่า “ไม่ชอบ” ก็ไม่ได้อีกนั่นแหละ ที่ปฏิเสธไม่ได้คือดุลยภาพของงานทั้งชุด
ไม่มีข้อสงสัยในฝีมืออารยาในฐานะศิลปิน ภาพถ่ายสี female-scape ของเธองามมาก มองไกลๆเหมือน landscape ที่นุ่มงามสะอาดตา มองใกล้อีกหน่อยจึงเห็นว่าเกิดจากการถ่ายมุมใกล้ (close-up) ส่วนต่างๆของศพผู้หญิงกับผ้าขาว
ส่วนภาพร่าง (sketch for video presentation) ที่ถูกนำมาเป็นองค์ประกอบของ installation ชุดนี้ เป็นฝีมือเส้นวาดที่เข้มเฉียบของศิลปิน ข้าพเจ้าพบว่ามันเป็นอย่างเดียวที่ไม่กดดันอารมณ์จนแทบสำลักเหมือนองค์ประกอบอื่นๆ เพราะมันเป็นการวาดเพื่อใช้งาน จึงมีการถอยห่างที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้โผล่ขึ้นมาหายใจจากการจมอยู่ใน 'รสกวี' ที่มีอานุภาพรุนแรง
งานชุดนี้เป็นที่ยอมรับได้ยาก เพราะอารยาทำให้ราคะของคนเป็นไหลเลอะเข้าไปในพื้นที่ของความตาย และความตายแลบเหลื่อมเข้ามาในพื้นที่ของคนเป็น ซึ่งขัดแย้งกับความเคยชินของคนส่วนใหญ่ที่มีการขีดเส้นคั่นระหว่างความเป็นกับความตายไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน
มิหนำซ้ำเรายังตอกย้ำเส้นขีดกั้นนี้ด้วยธรรมเนียม ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศพ หรืองานฉลองชีวิต เช่นวันเกิด การแต่งงาน การรับตำแหน่ง เลื่อนขั้น ฯลฯ เราไม่หันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก เพราะเป็นทิศที่หันหัวศพ เราไม่แต่งดำในงานมงคล เพราะเป็นสีไว้ทุกข์ และอื่นๆ อีกมากมาย
เส้นขีดกั้นที่ว่านี้ ทำให้เรากลัวศพ กลัวผีและอะไรมิอะไรที่เกี่ยวกับความตาย แต่เราก็เน้นเส้นคั่นเดียวกันนี้นักหนา จนกลายเป็นเรื่องของสังคมหน้าตา พากันทุ่มเทกับงานศพ งานฉลองวันเกิดกันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน
ข้าพเจ้าไม่บังอาจถามอารยาว่า เธอจะหยุดแค่เพียงรสกวี ที่อวลอบไปด้วย morbid romanticism หรือ (ขอโทษที่ใช้ภาษาฝรั่งเพราะคิดหาคำแปลให้ตรงใจไม่ได้)
แต่จะตั้งคำถามกับตัวเองในฐานะคนที่เข้าไปดูงานนี้ว่า เราจะปฏิเสธงานศิลปะที่มีอานุภาพรบกวนจิตใจถึงขั้นนี้ด้วยการหันหลัง หรือจะเปิดหูตาและใจลองลิ้ม ‘รสกวี’ ที่ศิลปินชงให้ ถึงแม้จะเฝื่อนขม และหยุดอยู่แค่ชอบ ไม่ชอบ หรือจะให้รสนั้นกวนให้เกิดความ‘รู้เท่าทัน’ อย่างน้อยก็บางเสี้ยวส่วนที่ซ่อนลึกในหลืบจิต...
หมายถึงจิตมนุษย์ในตัวเราเองนะคะ ไม่ได้หมายถึงจิตส่วนลึกของศิลปิน ซึ่งอย่างมากเราก็ได้เพียงคาดเดา
จาก : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24-30 มกราคม 2546.
ภาพประกอบจาก http://rama9art.org/araya/index.html
Comments