top of page

ก้าวสู่ศตวรรษใหม่ (2)



คุณภาพความคิด


แม้เกิดมาในตระกูลนักธุรกิจใหญ่และต้องดูแลกิจการหลายอย่าง รวมทั้งโรงพยาบาลจักษุรัตนิน กระทั่งประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในระดับนานาประเทศ แต่ดูเหมือนว่าด้านธุรกิจ ไม่ใช่มิติหลักสำหรับคุณหญิง ที่ตั้งแต่ครั้งอายุ 18 ก็เลือกที่จะเป็นนักข่าวแทนการทำงานที่บริษัทล็อกซเล่ย์ของครอบครัวอย่างไรก็ตามเมื่อต้องบริหารงานโรงพยาบาล คุณหญิงมีวิถีทางของตัวเอง


“ดิฉันไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่งอะไร ขี้ลืม วางแผนไม่เป็น แค่ว่าทำอะไรก็ทุ่มทั้งกายทั้งใจ เจอปัญหาก็แก้มันไป โดยไม่ให้การแก้นั้นเป็นเหตุให้ปัญหาอื่นๆ ตามมา


“ที่สำคัญมากๆ คือมีทีม มีที่ปรึกษา มีผู้ช่วย มีลูกน้องดีๆ ที่ทุ่มเทใจให้กับเราและงานของเรา ถ้าพูดถึงความสำเร็จก็ต้องถือเป็นของเขาด้วย ปัจจุบันรู้สึกว่าโชคดีมากๆ ที่ล้อมรอบด้วยผู้ช่วย และเพื่อนฝูงที่มีน้ำใจ ช่วยดูแล เสียสละ จะทำอะไรก็โดดมาช่วยกัน ด้วยความเต็มอกเต็มใจ แล้วก็ยังสามีอีก” ดร.ชิงชัยเป็นที่ปรึกษาสำคัญในการบริหารธุรกิจของครอบครัวให้กับลูกๆ ของคุณหญิง และดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท Rutnin-Gimbel Excimer Laser Eye Center


ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ จบการศึกษาด้านกฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัย CAEN ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรรัฐและเอกชนหลายองค์กร อาทิ กรรมการบริหารบริษัทล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) , เลขามูลนิธิวิเทศพัฒนา, ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิบาล, ที่ปรึกษาศาลปกครอง, กรรมการบริหารศูนย์นโยบายกฎหมายทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กรรมการบริหารกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานสภาธุรกิจไทย-ฝรั่งเศส ฯลฯ ล่าสุด ดร.ชิงชัยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ในฐานะผู้ที่ทำประโยชน์อย่างสูงให้กับประเทศฝรั่งเศส


ทางด้านงานสังคม หลายทศวรรษที่ผ่านมาคุณหญิงจำนงศรีริเริ่มตลอดจนร่วมก่อตั้งองค์กรทำงานช่วยเหลือและพัฒนาสังคมหลายแห่ง ทั้งในรูปแบบองค์กรพัฒนาเอกชนและการทำงานร่วมกับภาครัฐ เริ่มจากเมื่ออายุ 24 ได้เป็นกรรมการก่อตั้ง มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ภายใต้การนำของ หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา นับเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจการทำงานพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ในเวลาต่อมา อาทิ การให้ความช่วยเหลือและการศึกษาแก่เด็กหญิงกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงและยาเสพติดในภาคเหนือ การทำงานเพื่อรณรงค์สิทธิเด็ก ผู้หญิง และสถาบันครอบครัว


ในปี พ.ศ. 2540 คุณหญิงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า และต่อมาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตรวม 3 สาขา คือ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.2546) ปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย

มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (พ.ศ.2555) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ.2557)


ดร.ชิงชัยและคุณหญิงวันรับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา

จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546



วันรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (พ.ศ.2555)

จากซ้ายไปขวา ดร.ชิงชัย คุณน้ำผึ้ง คุณหญิง คุณน้ำหวานและสามี


ในฐานะนักเขียน นอกจากทำงานเขียน คุณหญิงมีส่วนในการสนับสนุนวงการวรรณกรรม ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแปลผลงานวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ในวงกว้าง การเข้าร่วมงานด้านกวีนิพนธ์นานาชาติเพื่อเผยแพร่บทกวีของไทย รวมถึงเป็นกรรมการตัดสินรางวัลซีไรท์


งานซีไรต์ ปี พ.ศ.2546


คุณหญิงและ Ruth Elyria S. Mabanglo กวีชาวฟิลิปปินส์ ที่ฮาวาย ปีพ.ศ.2547


คุณหญิงเขียนเล่าถึงการไปร่วมงานนำเสนอบทกวี ที่ฮาวาย ไว้ว่า


ความจำในเรื่องนี้ไม่เหลือเลย….

ไม่สามารถรื้อฟื้นจากความทรงจำว่าครั้งหนึ่ง เคยได้รับเชิญไปพูดและอ่านกวีนิพนธ์ในเล่ม “On the White Empty Page” ที่ University of Hawaii at Manoa กวีหญิงอีกคนหนึ่งก็ได้รับเชิญไปเสนองานของเธอ จะเป็นคนชาติไหนก็จำไม่ได้ อาจจะเป็นอินโดนีเซียน หรือ มาเลย์ จำไม่ได้เลยแม้กระทั่งเมื่อเห็นซองไปรษณีย์อากาศ (Air Mail)ที่มีจดหมายลงวันที่ 12 พ.ค ค.ศ. 2004 ในซองมีรูปชุดนี้ กับจดหมายเซ็นชื่อ Ruth อ่านลายมือที่เขียนหน้าซองว่า Ruth Mabanglo - ไม่แน่ใจนักเพราะลายมือหวัดๆ


ที่ได้มาพบซองนี้ ก็เพราะรื้อรูปเก่าๆเพื่อให้ อุ๋ย บุดด้าเบลส นำไปประกอบการ “คุยกับอุ๋ย” เอ ไหนคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมองเสื่อม บอกว่าคนแก่ที่สมองเริ่มเสื่อม จะยังจำเรื่องที่เกิดขึ้นนานมาแล้วได้ โดยจะลืมเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ก่อนไง คือ short-term memory จะสูญไปก่อน Long-term memory


ในกรณีป้าศรีนี้คงจะเป็นพวกที่ลืมทั้งเก่าทั้งใหม่ น่าห่วงเป็นยิ่งนัก 555


(เพิ่งค้นพบเดี๋ยวนี้ใน Wikipedia ว่า Ruth Elyria S. Mabanglo เป็นศาสตราจารย์ กวี และนักเขียนชาว Philippines เธอโด่งดังทีเดียว ได้รับรางวัลมากมาย)


พูดถึง กวีหญิง…. หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ผู้ที่บรรดานักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี กวี นักเขียน และศิลปิน เรียกกันว่า “ท่านจันทร์” ท่านเป็นคนแรกที่ป้าได้ยินใช้คำว่า “กวิณี”

ยังจำได้ดีว่าท่านจะไม่เรียกชื่อป้าศรี แต่จะอมยิ้ม เรียก“กวิณี”เสมอ


ป้าชอบไปสนทนากับท่านจันทร์ ที่วังถนนโชตนา แม่ริม เชียงใหม่ เป็น "วัง" ที่เป็นบ้านธรรมดาๆ ไม่โอ่อ่าแต่ประการใด ท่านมีอารมณ์ขันมากมาย เป็นอารมณ์ขันที่ฉลาด คมกริบ บ่อยครั้งผสมรสแสบๆ คันๆ ซึ่งป้าศรีชอบมากๆ ชอบฟังท่าน คุยกับท่านเป็นยิ่งนัก ท่านเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี กวี(ทั้งภาษาอังกฤษ และไทย)ที่ปราดเปรื่อง


ใครอ่านถึงตรงนี้คงรู้ว่าป้าทั้งรักทั้งชื่นชมท่านเพียงใด ท่านจันทร์ สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2534 เมื่อชันษาได้ 81 ปี อ้าว…อย่างน้อยก็ยังจำเรื่องราวที่เกี่ยวกับหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ได้



วันรับรางวัลนราธิปฯ

ในปี พ.ศ. 2563 คุณหญิงได้รับรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์ จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รางวัลนี้ทางสมาคมฯ มอบให้แก่นักเขียน นักแปล กวี นักหนังสือพิมพ์ และบรรณาธิการอาวุโสที่สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีผลงานเป็นที่น่ายกย่องอย่างกว้างขวาง (งานรับรางวัลจัดขึ้นในปี

พ.ศ. 2565 เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19)


“การเป็นนักเขียนแล้วได้รางวัลนราธิปฯ สำหรับ lifetime award (รางวัลสำหรับความสำเร็จตลอดช่วงชีวิต) ในส่วนตัวเองแล้ว..ตกใจ เพราะไม่เคยคิดว่าตลอดอายุของเรานี้ได้เขียนอะไรมากมาย รู้สึกว่าไม่ได้เขียนเยอะแยะเหมือนคนอื่นๆ เมื่อทราบว่าได้รับรางวัลนี้ ก็ตกใจและดีใจมากด้วย"



เมื่อกลางปี พ.ศ.2566 ในวัย 84 คุณหญิงเขียนบทกวีใหม่ล่าสุด และเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า


อ่านบทกวีที่ห้องมารวย ตลาดหลักทรัพย์เมื่อ วันที่ 2 กันยายน ร่วมกับเพื่อนกวี ที่ล้วนที่จะแสนน่ารัก นานแล้วที่ป้าศรีไม่ได้พบปะชาววรรณกรรม ขอบคุณชมัยภร แสงกระจ่างที่ชวนไปร่วมกิจกรรมอันสุนทรีย์นี้ และขอบคุณ คุณชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่จัดงานที่เปิดพื้นที่วรรณศิลป์ ที่ตลาดหลักทรัพย์


Theme งานของตลาดหลักทรัพย์วันนั้น คือ “ความสุขของชีวิตที่ยั่งยืน”

บทกวีบทนี้เขียนที่ “สรรค์สาละ” สถานที่จัดกิจกรรมของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีต้นไม้ มีน้ำ มีที่โล่งเปิดกว้างให้เห็นฟ้า และผืนน้ำระลอกลม (ถูกใจป้าเหลือเกิน) นี่คือบทที่เขียนไปอ่าน

ตอบโจทย์ “ความสุขของชีวิต อันยั่งยืน” หลังจากไม่ได้เขียนงานกวีมานานนมเน จนสนิมขึ้น ลองอ่านดูนะคะ พอไหวไหม

……

“เหยียดกายทอดร่างมองฟ้า

นาบหญ้าอาบไออุ่นอรุณสาง

ท้องนภาวาดวงเวิ้งว้าง

เสกเป่าแก้วเนื้อบางมาครอบโลก

ธรรมชาติประชุมชวน

ให้ฤทัยชื่น

ลมอวลโชยรื่นระรวยไล้

“ความสุข” เจ้าช่างร่ายร้อยมนตรา

ลวงใจให้ระเริงหลงไปว่า “ชีวิต” นี้เบ่งบานได้

จนล้นขอบฟ้า

สะเดาไกวกิ่งยะเยิบใบ

หลิวส่ายก้านไหวละเลียดน้ำ

ลั่นทมสาวบรรจงปลิดดอกโรย

แล้วให้ลมช่วยพาร่อนลงนอนดิน

ความสุขอันยั่งยืนของชีวิตฉัน

ดูจะนาบเนียนกับความงามที่ระริกไหว

ที่เลื่อนรินในวารว่างแห่งปัจจุบัน

แห่งคืนวันที่สลายไหล

สู่อดีตอันซีดเปลือย

ว่างเปล่า

ความสุขที่ยั่งยืนในชีวิตของฉัน

คือมหรสพที่ไร้แสง

ดุริยางค์ที่ปราศจากเสียง

ลำนำความไม่ยั่งยืน

ที่ยั่งยืน

และภาพฝันอันงามล้น

ของความยั่งยืน

ที่ไม่ยั่งยืนยง”

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์

(ป้าศรี)

2 กันยายน พ.ศ. 2566



คุณหญิงเขียนเล่าเสริมต่อมา ว่า "ป้าศรีเป็นกวีที่แก่ที่สุดในงาน สนุกมาก… ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศชาววรรณกรรมอย่างนี้นาน ทำให้รู้สึกเหมือน 'กลับบ้าน'


ในวันนั้น คุณหญิงร่วมเป็นวิทยากรชีวามิตรในคอร์สอบรมกลุ่ม YPO (Young President Organization) อยู่ที่ สรรค์สาระ ของ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ที่ ราชบุรี "จึงต้องเข้ากรุงเทพฯ มาตลาดหลักทรัพย์ เพื่อการกวีงานนี้ แล้วก็ห้อกลับราชบุรีทันที่ที่งานอ่านบทกวีเสร็จ ขออวดว่า ไม่เหนื่อยเลย… สนุกซะอย่าง"


คุณหญิงกับกิจกรรมเพื่อสังคมของ โรงพยาบาลจักษุรัตนิน


ปัจจุบันคุณหญิงจำนงศรี ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท แพทย์รัตนิน จำกัด (โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน) กรรมการคณะกรรมการนโยบายศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และที่ปรึกษาอาวุโส (ผู้ร่วมริเริ่ม) โครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ ร่วมกับ ชมรมสมองใส ใจสบาย ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย



โครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในโครงการที่คุณหญิงสนุกและภาคภูมิใจ ด้วยมีใจรักศิลปะภาพยนตร์และเห็นว่าน่าจะนำใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ


“ปี 2559 ป้าร่วมริเริ่มกับ คุณหมอสุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย แห่ง ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม ของโรงพยาบาลจุฬาฯ และ คุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี จากศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติ เราจัดเป็นการฉายหนังดีๆ ให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุ 50 ขึ้นไปดูฟรี ฟังร่วมในการวิเคราะห์วิจารณ์ เราทำกันสองเดือนครั้ง ทำมาเกือบ 3 ปีแล้ว จากมีคนเข้ามาดูกันแค่ 40 กว่าคน กลายเป็นมีแฟนประจำ มากันครั้งละ 200 กว่าคนแล้ว"


ร่วมงานกับสถาบันพระปกเกล้า


นอกจากโครงการหลักๆ ดังกล่าว ในวัย 80 เศษ คุณหญิงยังคงเปี่ยมล้นด้วยพลังทั้งร่างกายและความคิด และยังคงรับเชิญไปเป็นวิทยากร บรรยาย ให้สัมภาษณ์ ในหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับธรรมมะ นิทาน การรับมือกับวัย รวมถึงการตายอย่างสงบ ฯลฯ คุณหญิงยังค้นคว้าข้อมูล และผลักดันอย่างจริงจังกับการจัดการร่างผู้วายชนม์ อย่างสอดคล้องกับสังคม ประเพณี และวัฒนธรรม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


หนึ่งใน 'เรื่องใหม่ๆ' ที่คุณหญิงริเริ่มในยามนี้คือ การทำสวนทุเรียน ดังที่เขียนเล่าแฟนเพจ ใน FaceBook ไว้ว่า



ป้าอายุกำลังจะครบ 7 รอบ (84) ปีนี้ แต่ก็ยังสนใจที่จะเรียนรู้ เรื่องใหม่ๆ โดยที่ต้องพิงสติระวังใจ รู้ว่าชีวิตจะจบเมื่อไหร่ ในนาทีไหนก็ได้ วันหนึ่งๆ กินยาเช้าเย็นเยอะมาก ไม่ว่าเกี่ยวกับไทรอยด์ หัวใจ ความดันฯลฯ มิหนำซ้ำยัง accident prone จนขาหักหมดแล้วทั้ง 2 ข้าง


แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ การ "ปฏิบัติธรรม” ก็ควบคู่กันไปกับชีวิตในโลกโดยอาศัยสติประคองใจให้ใส ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด สถานการณ์ใด


เริ่มต้นอย่างนี้ เพราะจะเล่าว่า

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี้ ไปศึกษาเรื่องการทำสวนทุเรียนในเมืองนนท์ (นนทบุรี) ได้สัมผัสเรื่องราวของศูนย์การเรียนรู้ทางเกษตรของจังหวัด


เรื่องใหม่ๆ มากมายเกินกว่าป้าแก่ๆ คนนี้จะเล่าหวัดไหว เอาแค่ว่า ทุเรียนก้านยาวของเมืองนนท์ 2 ลูกในภาพแรกนี้ ราคารวมกันได้ 24,000 บาท มี connoisseur ทางทุเรียนจองซื้อเรียบร้อยแล้ว


พอเข้าใจได้เป็นอย่างดี เมื่อได้ฟังถึงความลำบากในการปลูก การดูแล และการให้ผลทุเรียนที่รสสุดจะเนียน กลิ่นละเมียด ไม่แรงไม่อ่อน นั้นเป็นอย่างไร ยากลำบาก ทะนุถนอม กันแค่ไหน ไม่ว่าใครก็คงจะเข้าใจ เมื่อได้รับรู้ว่าแต่ละต้นออกผลปีละ 2-3-4 ลูก ที่ต้องเฝ้า ใส่กรงกันกระรอก ตัดผลเมื่อนั้นเมื่อนี้ ไม่เร็วไปไม่ช้าไป

มิหนำซ้ำยังต้องปลูกขนุนเพื่อล่อกระรอก ให้อิ่มขนุน จะได้ไม่หิวทุเรียน (แทนที่จะไปยิง ไปวางยา ไปฆ่าเขา) ต้องใช้ปุ๋ยธรรมชาติ เพราะปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินเสีย และโอย.. อีกมากมาย เป็นศิลปะที่มีความรัก (passion) ในงานเกษตรของชาวสวนนนท์ ที่หลายคนยังเก็บที่ดินราคาไร่ละ 20-30 ล้าน ไว้เป็นสวนทุเรียน แซมด้วยมังคุด ส้มโอ ฯลฯ


ตามประวัติ และ ความรู้ที่มีมาตั้งแต่ป้าศรียังเด็กนั้น นนทบุรีเป็นแหล่งแรกของทุเรียนไทย… ทีนี้ถ้าจะถามว่าเศรษฐีที่จองซื้อทุเรียนสุดพิเศษนี้ นั้น เขาเอาไปรับประทานเองหรือ คำตอบว่าใช่ ถามว่าแปลกไหม คำตอบขึ้นกับคนตอบ

แค่เพียงว่าป้าคนนี้อยากจะถามต่อว่า แล้วทำไมซื้อไวน์ชั้นเซียนกันได้ขวดละหลายหมื่นล่ะ ทั้งมีศิลปะการชิมไวน์ (Wine Tasting) กันอย่างชื่นชม


มิควรหรือ ที่ทุเรียนที่ปลูกด้วยความรัก ด้วยศิลปะการเกษตรของชาวสวนไทยเรา จะได้รับการชื่นชม ชื่นจิต ชื่นใจ เหมือนไวน์ที่กำเนิดมาจากแดนไกล รึว่า ความมึนเมา จะเป็นตัวเพิ่มค่าให้กับความละเมียดทางสัมผัส??


อายุปูนนี้แล้วก็ตาม ป้ากำลังคิดจะทำสวนทุเรียนเล็กๆ ที่เมืองนนท์ ปลูกหลายพันธุ์เลยเพื่อเป็นมรดกที่น่าภาคภูมิให้ลูกหลานไทย เพราะตัวเองคงตายไปก่อนจะได้เห็นผลจริงจัง ก็ "ทุเรียนก้านยาว" ใช้เวลาปลูกถึง 10 ปีก่อนจะให้ผล นี่คะ…. แต่ไม่เป็นไร สวนทุเรียน และไม้ผสมก็ยังจะเป็น "ปอด” ใกล้ๆกรุงเทพฯ


แรงบันดาลใจได้จากการเยี่ยมชมสวนทุเรียนและผลไม้อื่นในภาพค่ะ

ใครว่ายายแก่นี่ยุ่งจังไหม เร็วๆ นี้จะไปจดทะเบียนเป็นเกษตรกร นี่พูดจริงนะคะ โชคดีที่มีชาวสวนผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร พร้อมที่จะกระโดดเข้ามาลงมือลงแรงช่วยหลายท่านเลยค่ะ รวมทั้ง

ทั้ง 2 ท่านในรูปแรกนี้


หากจะสรุปถึงความคิดที่มีคุณภาพ คุณหญิงให้ความสำคัญกับ “ใจที่ ‘เป็นสุข’ ในตัวของมันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ 'มีความสุข' เพราะอะไรที่เรา ‘มี’ มันก็หายไป ต้องวิ่งหาใหม่อยู่เรื่อย แต่ที่มัน ‘เป็น’ น่ะ มันเข้ามาเป็น ส่วนหนึ่งของตัวเราเลย ชีวิตจะเบาลงอย่างมหัศจรรย์ เพราะความไม่เที่ยงแท้แน่นอนมันซึมลึกเข้าไปในใจ รู้ชัดว่าอะไรที่มากระทบ มันอยู่ที่การรับรู้ของเราทั้งสิ้น กระทบแล้วขึ้นกับการตอบสนองของใจที่รู้ทัน อันนี้คิดและใช้เหตุผลเอาก็พอได้ แต่มันมักไม่ทันการ การปฏิบัติธรรมช่วยให้ทันขึ้น และค่อยๆ เข้ามาเป็นธรรมชาติของเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว


คุณหญิงกับลูกๆ ปฏิบัติธรรมกับท่านอมโรภิกขุ(พระราชพุทธิวรคุณ)


“การปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าดีกว่า วิเศษกว่าคนอื่น แต่ทำให้เราเห็นธรรมชาติของมนุษย์ และธรรมชาติในตัวเองชัดขึ้น เห็นการยึดตัวกูของกูได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งช่วยในการนำไปสู่การวางทีละน้อย คอยเตือนตัวเองเสมอว่า ทุกนาทีที่ผ่านไป มันผ่านแล้วผ่านเลย น่าเสียดายนะ ถ้าจะให้มันผ่านไป ด้วยใจที่มัวหมอง


“ป้าอยากจะฝากว่า อดีตมี อนาคตมี แต่ว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา รู้สึกอย่างนั้นนะ เพราะว่าอนาคตของป้า ยังไงความตายมันอยู่ไม่ไกล อย่างนั้นแหละ…ก็เป็นอนาคต สนุกกับปัจจุบันดีกว่า เราจะสนุกได้ต่อเมื่อ เราอยู่กับปัจจุบัน”


คุณภาพความแก่


พร้อมกับจำนวนตัวเลขของวัยที่เพิ่มขึ้น คุณหญิงจำนงศรี ซึ่งในเวลานี้เรียกตัวเองว่า ‘ป้าศรี’ ยืนยันด้วยความมั่นใจที่ไม่ได้ลดถอยลง แต่เพิ่ม


“ความแก่ให้ ‘อิสรภาพ’ ทางใจกับเรา เมื่อก่อนจะออกไปไหนต้องผัดหน้าทาปาก อยากให้คนเห็นว่าสวย ตอนนี้มันเหี่ยวหมดแล้ว แค่ดูแลพอไม่ให้ดูทุเรศนัยน์ก็พอ บอกว่า 76 แล้วนะ เขาก็ยกโทษให้ ‘โถ..โถ.. คนแก่’ ขึ้นรถไฟฟ้าหรือใต้ดิน ใครลุกให้เรา เราก็รู้สึกแสนดี เขาไม่ลุกให้ก็แสนดีอีก ฝึกการทรงตัวไง คนแก่ล้มง่าย โอกาสฝึกการทรงตัวในรถไฟฟ้ารถใต้ดินนี้ดีเหลือ เรายึดติดน้อยลงเพราะว่าไม่รู้ว่าจะยึดไปทำไม (หัวเราะ) ไม่ใช่เพราะว่าเฉลียวฉลาดอะไรหรอก มันเหลือเวลาน้อย ฝึกปล่อยชีวิตให้ผ่านไปสำหรับเมื่อความตายมาถึง... คนแก่มีเรื่องให้ฝึกสารพัด”


คุณหญิงเป็นสุภาพสตรีร่างเล็ก ที่ไม่มีไขมันส่วนเกิน ใบหน้าเปล่งปลั่งและดูอ่อนกว่าวัยมาก แม้จะมีโรคประจำตัวหลายอย่าง อาทิ โรคหัวใจ ความดัน ฯลฯ ที่เพิ่มมาตามวัย แต่คุณหญิงยังคล่องแคล่วและเดินเร็วมาก ทั้งมีกิจกรรมมากมายในแต่ละวัน รวมถึงยังไปเยือนหิมาลัยในวัย 80


ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ในวัยใกล้ครบ 7 รอบ คุณหญิงเดินทางไปภูฏาน ดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัย ไม่เพียงเดินทางไกล แต่ยังเดินขึ้นเขาในเทือกเขาหิมาลัยที่อากาศบางเบา โดยใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ คุณหญิงเขียนเล่าถึงความร่วมมือของร่างกายและใจไว้ว่า



เอาความทุเรศของตัวเองมาประจาน

ในภาพชุดนี้ ป้าศรีกำลังไต่เขาขึ้นไปร่วมพิธี bless พื้นที่บนภูเขาลูกหนึ่งใน Thimphu เป็นพื้นที่ที่จะมีการสร้าง Hospice หรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งแรกของภูฏาน ทั้งนี้ เป็นโครงการ ในพระดำริและทุนเริ่มต้นของ Her Royal Highness Ashi Kesang Wangmo Wangchuk พระปิตุจฉา(อา) ของ His Majesty King Jigme Wangchuk กษัตริย์แห่งภูฏาน

โดยร่วมกับทางภาครัฐและคณะสงฆ์


ป้าศรี และมอด มาในนามของชีวามิตร มีรึ ที่จะไม่ตะเกียกตะกายขึ้นมาร่วมพิธี แสดงให้เห็นถึงแรงอึดของหญิงไทยวัย 83-84 ขวบ ที่เป็นย่ายายของหนุ่มสาวถึง 6 คน (หลานคนโต 30+ คนเล็กสุด 20+)


เคราะห์ดีที่อากาศเย็น โปร่ง ใส ไม่มีฝุ่นหรือมลพิษใดๆ (มอด วิ่งฉิวไปล่วงหน้าแล้วหันมาถ่ายรูป) หวังว่าคุณหมอสมชายผู้ที่เมตตาดูแลรักษาโรคหัวใจของป้าจะไม่เห็นโพสต์นี้


ขอให้ดูว่า ป้านุ่งซิ่นไหมไทยด้วยนะคะ ทอด้วยฝีมือชาวสกลนคร


หลังจากนี้ ทางภาครัฐจะสร้างถนนขึ้นมาถึงยอดเขานี้ เพื่อให้ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice)นี้ สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ส่วนดูแลสุขภาพอย่างไรให้แข็งแรงไม่แก่นั้น คุณหญิงเคยตอบไว้กับ a dayBULLETIN ว่า “...ไม่รู้สิ อาจจะเพราะกินน้อย ถึงไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แต่ก็เดินเร็วมาก เวลาพูดมือถือก็เดินวนๆ เร็วๆ จนคนที่มองอยู่เวียนหัวกันเป็นแถว ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หมอให้ยาก็กิน ไม่กลัวยา กินวิตามิน อาหารเสริม ร่างกายก็แก่ของมันไป แต่ไหงไม่รู้สึกว่าใจมันแก่นะ


“ป้าชอบไปปฏิบัติธรรมเมื่อแวบไปได้ ไม่เข้าคอร์ส ชอบไปอยู่วิเวกคนเดียวในธรรมชาติเป็นระยะ เมื่อเร็วๆ นี้ (พ.ศ.2558) ก็ไปอยู่บนเขาหิมาลัยในภูฏาน ไปคนเดียวนะอยู่บนนั้น 12 วัน ชอบจัง ส่วนในชีวิตประจำวัน ก็มีสติรู้กาย รู้ใจตัวเองให้บ่อยที่สุด การรู้สึกตัว คือชีวิตนะ คนตายไม่มีการรู้แล้ว ไม่รู้ว่านี่มีผลทางสุขภาพไหม...”


“ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งปฏิบัติฯ ก็ทำให้เห็นชัดเจนว่า จริงๆ แล้วเราไม่สามารถควบคุมการแปรเปลี่ยน ของกายใจตัวเองได้ เหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย และผลของมัน ที่เป็นเหตุปัจจัยต่อกันไปเรื่อย ส่วนทางวิทยาศาสตร์ก็ว่าสิ่งที่เรารู้สึกนึกคิดนั้น ล้วนเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นจากสมองและปฏิกิริยาทางเคมีกับไฟฟ้า (Electrochemical Reaction) ซึ่งก็เป็นวงจรเช่นกัน เราจึงไม่ใช่เจ้าของตัวเราอย่างแท้จริงเลย”


เมื่อตอนอายุ 79 ปี (พ.ศ.2561) คุณหญิงล้มป่วยครั้งใหญ่ ด้วยโรคหัวใจ และมีผลกระทบกับสุขภาพอีกหลายเรื่องตามมา ส่งผลให้ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู นานถึง 3 สัปดาห์ และใช้เวลาพักฟื้นอีกนานนับเดือน ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมา ใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีกครั้ง


“ป้าคิดเอาเองว่า ถ้าตายด้วยโรคหัวใจน่าจะทรมานน้อยที่สุด ความจริงเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จนครั้งนี้ป้ารู้จักอาการหัวใจวาย ซึ่งมันยังไม่ใช่หัวใจวายจริงๆ แต่เกิดจากการกระทบประสาท ที่สวิตช์ให้เกิดอาการคล้ายหัวใจวาย นานเพียงแค่ 1-2 นาที ทำให้พอรู้รสชาติของมันเลยละ (หัวเราะ) มันเจ็บแบบ โอ้โฮ… ไม่แค่เจ็บนะ แต่เราต้องดิ้นรนหายใจอีกด้วย

“พอผ่านพ้นไปแล้วก็มาคิดว่าดีแล้ว ที่ประสบการณ์จริงทำให้เราฉลาดขึ้น ชีวิตพลิกวับไปก็กลายเป็นความตาย เหมือนเหรียญสองหน้า ไม่มีใครอยากตายหรอก แต่นั่นคือธรรมชาติ คุณรู้เหรอว่าจะตายวันไหน ที่ไหน เมื่อไหร่

“สำหรับป้า ถ้าเลือกได้ก็อยากตายที่บ้าน ป้าทำ Living Will ไว้แล้ว เราไม่รู้หรอกว่าจะมีสติดีพอ ขณะที่ต้องเผชิญกับความตายจริงๆ ไหม และเราทุกคนก็ต้องอยู่กับความไม่รู้นี้ไป ที่ทำได้คือฝึกฝนใคร่ครวญ ให้ใจมันยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ การยอมรับไม่ใช่เรื่องของการพ่ายแพ้หรือเอาชนะ แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติของชีวิตอย่างแท้จริง...


“เมื่อเกิดสถานการณ์จริงก็จะได้ไม่ต้องตกใจ เหมือนฉีดวัคซีนไว้แล้ว คิดแค่ว่ามันเป็นของมันแล้ว มันเกิดขึ้นกับเราแล้ว แค่นั้นเอง เราจะทำอย่างไรในปัจจุบันให้ดีที่สุด ให้ปัจจุบันเป็นเหตุให้วงจรธรรมชาติของเหตุ ปัจจัย ผล มันหมุนไปในทางที่จะพ้นทุกข์”



ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2021ยี่สิบเอ็ดปีหลังขึ้น ศตวรรษใหม่ คุณหญิงเขียนเกี่ยวกับภาพนี้ไว้ว่า


เดือนนี้มีรายการเป็นวิทยากร เขาต้องการรูป วันนี้ก็เลยถ่ายรูปที่เหมือนตัวจริงๆในปัจจุบัน ไม่ใช่เอารูปเก่าๆ มามุสาว่ายังไม่แก่มากอย่างที่เป็น จึงได้เสนอ ฝ้า ย่น เหี่ยว กระ ที่เป็นอาภรณ์ประดับหน้า ของ สว เต็มระดับค่ะ ขอยืนยันกับน้องๆ ลูกๆ หลานๆ ว่า ในความรู้สึกของตัวเอง ชีวิตดีขึ้นเรื่อยๆตามวัย ถึงแม้จะประจักษ์ชัดกับใจ ว่ามาถึงช่วงปลายแล้ว ในช่วงจะเข้าวัยกลางคนนั้นชีวิตป้าเคยลุ่มดอนเป็นหลุมเป็นบ่อจริงๆ ทุกข์ สับสนกับชีวิต

ทรุดโทรมทางใจ มาวันนี้ ต้องขอบคุณความยืนยาวของชีวิตตัวเอง เพราะเอื้ออวยเวลาในการปฏิบัติฯให้เข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ในส่วนของ เส้นทางแห่งความชรา ใจกลับมีพัฒนาการสวนทางกับความเสื่อมของกาย ….เออ…จะเรียกว่าเสื่อมได้ไหม ก็เมื่อกายค่อยๆ กลายเป็น ”เหล็ก” มากขึ้นเรื่อยๆ นี่นา

คือ…เมื่อสามปีก่อนใส่เครื่อง pacemaker ซึ่งป้ายกย่องมันว่า เป็นเครื่องเหล็กอัจฉริยะ ที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ช่วยให้ป้าศรีได้เต้นแร้งเต้นกาในโลกนี้ได้ต่อ แต่ที่สำคัญคือ

ได้ปฏิบัติฯที่ใจ

อีกปีหนึ่งต่อมา ได้ไททาเนียม 2 แท่งดามขาซ้าย ปัญหาที่ตามมาคือ เจ้าขาขวาคงเกิดอิจฉาตาร้อน ทำไมฉันจะต้องรับน้ำหนักตัวด้วยกระดูกเปราะๆบางๆอย่างนี้ ฮึ่ม… ปีนี้มันจึงหักแบบพิสดารขึ้นไปกว่าข้างแรก คือนอกจากหักแล้วกระดูกยังแตกเป็นชิ้นๆ อีกด้วย มันก็เลยได้ความเท่าเทียม คือได้รับการดามไททาเนียน 2 แท่งเช่นกัน

เหตุการณ์ขาข้างที่สองหัก คุณหญิงบรรยายภาพนี้ว่า

"รูปนี้ลูกชายถ่ายป้าศรี in action ขณะที่นอนแอ้งแม้งโทรศัพท์ถึงคุณหมอ

ท่ามกลางฝอยฝนที่โปรยปรายลงมาบางๆ"


รางวัลที่ได้รับคือ เกียรติจากคุณหมอที่รักษากระดูก ให้ไปเป็นวิทยากรสอนนักศึกษาแพทย์ จากมุมของผู้ป่วยที่มีทัศนคติและปฏิกิริยาที่ออกจะแตกต่างจากคนไข้โดยทั่วไปที่คุณหมอได้พานพบ หรือจะเรียกว่าแปลกๆ หน่อยก็ได้




เมื่อทบทวนชีวิตที่ผ่านมามากกว่า 8 ทศวรรษ ครั้งให้สัมภาษณ์กับ a dayBULLETIN คุณหญิงเปรียบเทียบชีวิตคนกับสายน้ำ



“คุณค่าสูงสุดในชีวิต คือได้พบพระธรรมในช่วงวิกฤตของชีวิต ช่วงที่ถึงจุดที่อาจจะหักเหลงลึก จนชีวิตแทบจะหมดคุณค่าและความหมาย…


“ชีวิตทุกวันนี้แค่ให้มีสติที่จะรู้ทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ได้เห็นมันเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ให้มีปัญญารู้ว่า ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน บางทีก็เห็นว่าชีวิตที่ดำเนินอยู่นี้ เป็นเหมือนสายน้ำ ที่ไหลผ่านดิน ผ่านหิน ผ่านทราย สายน้ำนั้นจะค่อยๆ สะสมสิ่งต่างๆ ที่มันไหลผ่าน บางช่วงอาจจะมีหินก้อนใหญ่ขวาง ต้องเลี้ยว ต้องเปลี่ยนทิศทาง ...ต้องเลือกว่าจะลดเลี้ยวไปทางไหน


“...สายน้ำนี้จะรู้ได้อย่างไรว่ามันควรจะไหลไปทางซ้ายหรือขวา ทางไหนคือทางที่ถูก ไม่รู้เสมอไปหรอก เอาแค่มองภาพรวมให้รอบ แล้วไหลไปทีละช่วง การตัดสินใจถูกหรือผิดน่ะไม่มีหรอก มีแต่ว่ามันจะเป็นประโยชน์สุขหรือทุกข์ภัยกับตัวเองและหรือคนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน ในระยะสั้นหรือระยะยาว บ่อยครั้งมันจะซับซ้อนกว่านั้น


งานบวช นพ.สรรพัฒน์


แต่มนุษย์เราต้องตัดสินใจ…เมื่อตัดสินใจไปแล้ว พบอะไรใหม่ก็ต้องตัดสินใจอีก มีโอกาสที่จะตัดสินใจได้อีก…มองให้เชิงบวกก็จะเห็นว่า ชีวิตนี้ให้โอกาสตัดสินใจตลอดเวลา ...เราจะไปสอนใครให้เขาตัดสินใจแบบเดียวกับเราไม่ได้ ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราบอกไม่ได้ว่าทางไหนถูกที่สุดสำหรับคนอื่น แต่สิ่งหนึ่งซึ่งมนุษย์มีเหมือนกัน คือศักยภาพที่จะเรียนรู้ธรรมชาติภายในตัวเอง ที่จะพัฒนาคุณภาพจิตของตัวเอง




“ถ้าสายน้ำนั้นจะค่อยๆ ปล่อยสิ่งปนเปื้อนที่เคยสะสมเจือปนไว้ออกไป ไม่รับสิ่งปนเปื้อนเข้าใหม่ น้ำก็จะใสบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะไหลผ่านอะไร แต่ในที่สุดแล้วก็จะไหลถึงจุดที่หมดความเป็นสายน้ำนั้น หายไปในบึง คลอง หนองน้ำบ้าง ในทะเลบ้าง เหือดหายไปเองบ้าง ที่สุดเจ้าสายน้ำก็ต้องถึงจุดจบ จบอย่างไร ตรงไหน เมื่อไหร่ แตกต่างกันออกไปตามเหตุตามปัจจัย..."


ในวัยนี้ คุณหญิงเห็นว่า เป็น “ความโชคดีของคนแก่ เวลาเจออะไรมาขวาง อะไรมาขัด เราตั้งหลักซะก่อนคือคิดว่าเดี๋ยวก็ตายแล้ว เป็นมรณสติแบบหนึ่งมันทำให้เราไม่หวั่นไหวมากนัก ช่วยให้ตั้งสติหาทางที่ดีที่สุดหรือที่เลวน้อยสุดแล้วแต่กรณี อย่างว่าแหละ มองภาพรวมแล้วไปทีละก้าว และจะระวังที่จะไม่มองย้อนไปปรักปรำตัวเองหรือใครอื่น ให้เสียเวลาชีวิตที่เหลืออยู่น้อยนิด”



คุณหญิงกับดร.ชิงชัยปี พ.ศ.2560 คุณหญิงเขียนบรรยายภาพนี้ไว้ว่า

เมื่อครั้งยังกระชุ่มกระชวยกว่าปัจจุบันหน่อย

ที่เมืองจีนเมื่อ 5 ปีมาแล้ว

ลูกสาว(น้ำหวาน)-ลูกเขย(สรรพิชญ์)พาไปเที่ยว สนุกมาก…

เอ ยีนส์ติดลูกไม้คู่นี้ ไปอยู่ไหนแล้ว เสื้อสวยของลุงล่ะ ยังอยู่ไหมไม่รู้

ไม่เป็นไร ตอนนี้ เรามีเครื่องกระตุ้นหัวใจ(pacemaker)ฝังอยู่ทั้งคู่ ตอนนั้นไม่มีอะไรๆ

ที่เคยมี ก็ไม่มีไปแล้ว อะไรที่ไม่เคยมี ก็มีขึ้นมา…

จะเอาอะไรกับ มี-ไม่มี


ความแก่ยังเป็นคุณกับชีวิตคู่ “ป้ามีคู่ชีวิตที่เยี่ยมยอด… เข้าใจกันดี ทั้งความเหมือนความต่าง ยกความดีส่วนหนึ่งให้ความแก่ เรียนรู้ชีวิตมาเยอะทั้งคู่ ยิ่งเวลางวดลงๆ ก็อยู่ด้วยกันดีขึ้นๆ เขาทำงานที่เขาชอบและถนัด แล้วก็ปล่อยให้ป้าได้ทำงานอย่างที่ป้าอยากทำ ไม่ได้คาดหวังว่าต้องมาอยู่บ้าน ดูแลเขาหรืออะไรแบบนั้น ...เราเป็นคู่ที่ไม่ต้องจูงมือกันตลอดเวลา ใครมีงานอะไรก็ไปทำ แต่เดินทางด้วยกันเยอะนะ ทั้งงาน ทั้งเที่ยว ไปกันสองคนเป็นส่วนใหญ่ เป็นสุขด้วยกัน เมื่อถึงเวลาต้องจาก ก็จากกัน แค่นั้นเอง”


ถามว่าถึงเวลานั้นจะเศร้าไหม “ไม่รู้นะ คงมีบ้าง อะไรมันก็ไม่แน่ทั้งนั้น รวมทั้งใจเรา แต่ป้าเตรียมมานานแล้ว ทุกคืนก่อนเข้านอน ป้าบอกกู๊ดบายในใจว่า พรุ่งนี้จะไม่ได้เจอกันอีก พรุ่งนี้เราหรือเขาจะไม่ได้ตื่น ซ้ำๆ อย่างนี้ทุกคืนให้ชินใจ ป้าทำงี้กับลูกแต่ละคนด้วย แรกๆ ก็ใจหายนะ พอทำไปก็ชิน


“ป้าน่ะยังสนุกกับเรื่องราวหลากหลาย ไม่ใช่ว่าพิจารณาความตายแล้วจะต้องหันหลังให้กับชีวิต เพียงแต่ยอมรับด้วยใจว่า เกิดกับตายเป็นต้นกับปลายของสายธารชีวิต... เกิดกับตายเป็นโน้ตแรกกับโน้ตสุดท้ายของเพลงชีวิต เขาเป็นของคู่ที่แยกจากกันไม่ได้


“สำหรับความหมายของชีวิตเห็นจะเป็น การได้เรียนรู้ชีวิต ได้ตอบแทนบุญคุณโลกใบนี้ ที่ให้กินให้อยู่ให้ใช้ทรัพยากรของเขามาเกือบ 80 ปีแล้ว งานชีวามิตรฯ ที่ทำอยู่ขณะนี้ก็คงเป็นการตอบแทนโลกด้วยกระมัง สำหรับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยจดจำอะไรแล้ว ความทรงจำก็แค่ความทรงจำ พอตัวตายไปก็หายหมด..”


ชีวามิตรจึงเป็นโครงการล่าสุดของคุณหญิง ที่มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยได้มีโน้ตสุดท้ายที่งดงาม


คุณภาพความตาย


ภาพคุณหญิงเดินทางครั้งล่าสุด(พ.ศ.2566) ไปภูฎานตามคำเชิญไปดูความคืบหน้าการก่อสร้าง

สถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ที่ชีวามิตรมีส่วนร่วมให้การสนับสนุน


เมื่อขึ้นปี พ.ศ. 2560 วันที่ 9 มกราคม คุณหญิงซึ่งเพิ่งครบ 78 ปี ในเดือนธันวาคม เปิดตัว บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด องค์กรภาคประชาชนที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงลมหายใจสุดท้ายให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน เพื่อให้คนไทยได้ ‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’


ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการคุณหญิงจำนงศรี พูดถึงเป้าหมายของชีวามิตรว่า “...นักดนตรีที่แท้จริง พอถึงโน้ตสุดท้ายจะเล่นอย่างระวังที่สุด อย่างตั้งใจที่สุด เพราะฉะนั้นทำอย่างไร เราจะทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิต ท่อนสุดท้ายของเพลง เป็นท่อนที่งามที่สุด”


“เหตุที่เราตั้งชื่อบริษัทนี้ว่า ชีวามิตร เพราะต้องการบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตก็คือ ‘ชีวา’ ซึ่งหมายถึงพลังของชีวิต ความสดใส การเคลื่อนไหว สติปัญญา และอื่นๆ ในตัวเรา ที่ทำให้ชีวิตมีคุณภาพ สำหรับตัวป้าเอง ชีวาก็คือความกระตือรือร้น อยากเรียนอยากรู้ อยากมีส่วนสร้างสุขให้กับโลก”


แต่หลายคนกลับไม่มีโอกาสเล่นโน้ตตัวสุดท้ายของตนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากคนส่วนใหญ่วางแผนการเกิด - แก่ - เจ็บ แต่มักไม่ได้วางแผนเรื่องตาย อาจเป็นด้วยความเชื่อในสังคมไทยที่ยังเห็นว่า เรื่องตายไม่เป็นมงคลที่จะวางแผน ทั้งที่การเตรียมตัวเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบ หรือ ‘ตายดี’ มีความสำคัญ และส่งผลต่อการ ‘อยู่ดี’ ทั้งของเจ้าของชีวิตและคนรอบข้าง


ท่านชยสาโรนำฝึกวิปัสนาที่บ้านน้ำสาน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547


ความสนใจผลักดันโครงการ ‘ตายดี’ ของคุณหญิงเริ่มจากได้พูดคุยกับพระอาจารย์ชยสาโร “ท่านเล่าว่า พ่อของท่านเพิ่งเสียชีวิตที่อังกฤษ แต่ทั้งๆ ที่เป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีความเจ็บปวด ท่านกลับได้เห็นพ่อตายอย่างสงบและได้รับการดูแลอย่างดี ไม่ได้มีการไปยื้อชีวิตอย่างไม่จำเป็น คือ ท่านเห็น ‘ความตายที่ดี’ หรือ ‘good death’ ของพ่อท่าน อันหมายถึงการที่ร่างกายและจิตใจ ไม่ผ่านการทุกข์ทรมานมาก”


คุณหญิง ดร.ชิงชัย และพระอาจารย์ชยสาโร ที่บ้านน้ำสาน พ.ศ.2547


“วันนั้นพระอาจารย์ชยสาโรพูดสะดุดใจมากว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมเราไม่มีเรื่องของ Hospice หรือสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มันแพร่หลาย” บทสนทนานี้กระทบใจคุณหญิง ที่ประสบการณ์ในชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลให้สนใจเรื่องราวของชีวิตและความตาย รวมถึงเห็นความสำคัญของวาระสุดท้ายในชีวิต นำไปสู่ความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเรื่องการตายดีในสังคมไทย และมีสถานที่หรือกระบวนการรองรับผู้ป่วยระยะท้าย


ในส่วนของประสบการณ์วัยเด็กที่สัมพันธ์กับความสนใจเรื่องราวของความตาย คุณหญิงเคยเขียนไว้ใน Facebook เนื่องในวันเด็ก 14 มกราคม 2566 ว่า



สี่พี่น้อง ถ่ายในปีที่เสียคุณแม่อย่างกะทันหัน ใน พ.ศ 2485 (ค.ศ. 1942) ด้วยการที่เส้นเลือดในสมองท่านแตก เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2


พี่ชาย 2 คน (คนโตเสียชีวิตแล้วในวัย 84) ใส่หมวกกะโล่ เน็คไทดำ ปลอกแขนทุกข์สีดำ น้องสาวสองคนแต่งชุดขาว ใส่รองเท้าดำ ผูกโบว์สีดำที่ผม


เป็นรูปวันเด็กที่อาจจะไม่สดใสนัก แต่ทำไงได้… ธรรมชาติก็คือธรรมชาติ ไม่เมตตา ไม่โหดร้าย แค่เป็นธรรมชาติ


คงพอเข้าใจได้ว่า… ทำไมป้าศรีจึงสนใจอะไรมิอะไรเกี่ยวกับความตายนัก… ทำไมสนใจคุณภาพชีวิตระยะท้าย …. ทำไมสนใจการสูญเสีย…. การจากพราก


และทำไมจึงกลายเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “ชีวามิตร ธุรกิจเพื่อสังคม”

โดยมีน้องชายต่างสายเลือด ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ ทำให้ ชีวามิตร เกิดขึ้นได้… และยังเป็นประธานกรรมการให้จนทุกวันนี้

(https://www.facebook.com/photo/?fbid=6020329748028295&set=a.498225050238820&locale=th_TH)


ผู้เข้าร่วมอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ กับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่บ้านน้ำสาน


นับจากปี พ.ศ.2550 คุณหญิงมุ่งทำงานรณรงค์เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในการสร้าง ‘คุณภาพความแก่ คุณภาพความเจ็บ คุณภาพความตาย’ ให้กับผู้ป่วย ผู้ดูแล บุคลากรสาธารณสุข และผู้สนใจ ผ่านการจัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ และกิจกรรมหลากหลาย อาทิ จัดอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ ร่วมกับพระไพศาล วิสาโล จัดสัมมนาระดมทุนให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาดูงานต่างประเทศ รวมถึงการผลักดันโครงการสร้างสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย(Hospice) โดยบริจาคที่ดินประมาณ 100 ไร่ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำโครงการ Hospice ในรูปแบบการสร้างต้นแบบเป็นที่ศึกษา ฝึกบุคลากร และเป็นศูนย์วิจัย



ที่วัดคำประมง และพระอาจารย์ปพนพัชร์


เวลานั้นในเมืองไทย หน่วยงานรัฐยังไม่มีการจัดตั้งสถานให้บริการที่เรียกว่า Hospice อย่างเป็นระบบ มีเพียงสถานที่รับดูแลผู้ป่วยหนักที่จัดตั้งขึ้นเองของภาคสังคม อาทิ ‘อโรคยศาล’ สถานบริบาลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่จัดตั้งขึ้นโดย พระปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง จ.สกลนคร ส่วนมหาวิทยาลัยแพทย์หลายแห่ง เริ่มให้ความสนใจที่จะเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว


อย่างไรก็ตามโครงการนี้ไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย คุณหญิงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เริ่มดำเนินการบริจาคที่ดินที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน ให้มหาวิทยาลัยมหิดล สมัยที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นอธิการบดี ทางมหาวิทยาลัยเริ่มทำงานวางแผน สร้างแบบ ดำเนินการกันอยู่สัก 3-4 ปีมั้ง แต่ต่อมาด้วยเหตุผลหลายประการ ก็โอนโครงการให้คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีดำเนินงานต่อ ซึ่งทางรามาฯ ก็ทำโครงการโรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์ รวมทั้งศูนย์ผู้สูงอายุระยะต่างๆ ที่บางพลีอยู่แล้ว เลยนำแผนงานไปปรับเปลี่ยน ย่อส่วนและพัฒนาต่อบนที่ดินที่กรมธนารักษ์บริจาคให้ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับ

โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์



ดูงานสถานพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยมหิดล


“ที่ทำอย่างนั้นในตอนนั้น ก็เพราะอยากกระตุ้นให้เกิดสถาบันการเรียนรู้ในด้านนี้ เพราะคนแก่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิทยาการทางการแพทย์ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่จะช่วยชีวิตคนป่วยให้สามารถกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพยืนยาวขึ้นน่ะก็ดีมาก แต่อีกฝั่งหนึ่งก็ทำให้สามารถยื้อกระบวนการตายให้ยืดเยื้อยาวนานขึ้น สร้างความทุกข์ทรมาน ปัญหาและความสิ้นเปลืองนานาประการ ให้กับทั้งคนที่กำลังตายแต่ตายไม่ได้ คนใกล้ชิดและเพิ่มภาระให้กับสังคมโดยรวม ในแง่ของพื้นที่และปัจจัยต่างๆ ในการรักษาพยาบาล


“อีกอย่างที่ไม่ใช่แค่ ‘อีกอย่าง’ แต่สำคัญมาก คือป้าไม่อยากให้ใครตายอย่างทุกข์ทรมาน ไม่ว่าทางกายหรือใจ ป้าพูดมาเสมอว่าถ้าเปรียบชีวิตเหมือนเพลงที่พิเศษมาก เพราะแต่ละคนบรรเลงได้แค่เพลงเดียว เพลงนี้มีโน้ตแรกและโน้ตสุดท้าย เราทำอะไรกับโน้ตแรกไม่ได้ ตอนเกิดน่ะ แต่เพลงทั้งเพลงนำเราไปสู้โน้ตสุดท้าย เราจะให้คนอื่นเขาเล่นให้ โดยเจ้าของเพลงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่รับรู้หรือวางแผนเชียวหรือ

“คุณภาพชีวิตน่ะประกอบด้วยสุขภาวะทางกาย และสุขภาวะทางใจ ซึ่งประกอบด้วยความสัมพันธ์กับตัวเองกับคนอื่น กับสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเชื่อ คุณภาพความตายก็เหมือนกันแหละ ให้ไม่ทุกข์ทรมาน หรือทุกข์ทรมานน้อยที่สุดทั้งกายใจ


“การผลักดันโครงการแรกกับมหาวิทยาลัยมหิดลสมัยนั้น ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้น และเราก็เรียนรู้มากมายที่จะทำงานต่อได้ ไม่มีอะไรสูญเปล่า ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจดีแล้วจะต้องทำได้ไปหมด... นี่ไงข้อดีของความแก่ (หัวเราะ) เข้าใจและยอมรับง่าย เพราะเห็นว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไปทำไม เดี๋ยวก็ตายแล้ว”



ส่วนหนึ่งของผู้สนใจเรื่องคุณภาพชีวิตระยะท้าย

ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส นั่งด้านขวามือของคุณหญิง

การทำงานร่วม 10 ปี นับถึงปี 2560 สร้างเครือข่ายของผู้สนใจเรื่องคุณภาพชีวิตระยะท้ายมาร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ รับเป็นประธานกรรมการ ด้วยเจตนาอันดีในการขยายประโยชน์สู่สังคม ส่งผลให้ชีวามิตร ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง มาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาบริษัทฯ


“งาน ‘ตายดี’ ของป้านี้ก็กลายมาเป็นการขับเคลื่อนภาคประชาชน ด้านความรู้ความเข้าใจ และสร้างเครือข่ายซึ่งเกิดขึ้นและขยายเร็ว จนป้ายังประหลาดใจเลย ‘ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เกิดได้เพราะคนที่ได้เห็นคนที่เขารัก ‘ตายดี ’ จากงานของเรา ย้อนกลับมาช่วยอย่างจริงจัง ตอนนี้ก็มี คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ แห่งบริษัท Baker & McKenzie เข้าร่วมริเริ่มจัดตั้งชีวามิตรฯ และเป็นประธานกรรมการ หลังจากภรรยาวัย 57 เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และคุณโชติวัฒน์ ลัทธพานิชย์ หลังจากคุณพ่อเขา ‘ตายดี ’ ก็เข้ามาช่วยเป็นผู้จัดการให้องค์กรของเราเข้ารูปเข้ารอยและมีประสิทธิภาพ ทั้งสองท่านมาช่วยอย่างไม่รับค่าตอบแทนใดๆ


"เราเริ่มมีอาสาสมัครและแนวร่วมทั้งแพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย ทนายความ และอื่นๆ เพิ่มเข้ามางานขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติๆ แตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้งานหลักของเรา คือ การจัดอบรม เผยแพร่ความรู้ทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์ ที่เราทำได้ก็เพราะได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ เครือข่ายพุทธิกาของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล


งานพินัยกรรมชีวิต สิทธิในการตาย


ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนสังคม ชีวามิตรร่วมมือกับทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเพื่อนชีวามิตร เผยแพร่ ส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติการแพทย์ มิติจิตใจ มิติสื่อสาร / สังคม มิติกฎหมาย และมิติเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล คนรอบข้าง และครอบครัว ผ่านกิจกรรมและสื่อหลากหลาย ตลอดจนพัฒนาระบบจัดทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิตแบบออนไลน์ (e-Living Will) เพื่อให้ปลายทางของทุกคนมีทางเลือกที่เหมาะสมและพอดี


Life Review


ภาพถ่ายโดยคุณหญิงจำนงศรี


สายน้ำกับชีวิตเป็นความเปรียบที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาบ่อยๆ อาจจะเป็นด้วยความสอดคล้องระหว่างธรรมชาติของสายน้ำกับธรรมชาติของชีวิต ที่เริ่มต้นด้วยจุดเล็กๆ แล้วขยายกว้างใหญ่ขึ้นตามเวลา มนุษย์เราก็เติบโตด้วยประสบการณ์ และเช่นกันกับสายน้ำไหลที่ไหลระรื่นในช่วงต้น ผ่านช่วงที่ทรงพลังพัดไปอย่างไม่รู้เหนือใต้ และไหลแรงไปอย่างมุ่งหมาย ก่อนจะไหลเอื่อย เรื่อยเย็นในตอนท้าย


ที่หัวหิน เมื่ออายุ ราว 2 ขวบ พ.ศ. 2484 และในวันครบรอบ 83 ปี 30 ธันวาคม พ.ศ.2565


คุณหญิงเล่าถึงประสบการณ์ที่เป็นประจักษ์สักขีต่อแก่นสารของชีวิต ไว้ว่า


“ครั้งหนึ่งมีโอกาสพิเศษ ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรม ที่ปฏิบัติมานานและกำลังทำเรื่อง ‘วิถีสู่ความตายอย่างสงบ’ ได้ดูและช่วยเลาะศพ ทำโครงกระดูกเพื่อศึกษา ศพเพิ่งตายไม่เกิน 24 ชั่วโมง ทุกครั้งที่ลงมีดตัดเข้าไปในร่างของเขา ก็รู้สึกเหมือนตัดเข้าไปในร่างกายของตัวเอง จะเป็นเส้นเลือด เอ็น กล้ามเนื้อ ทุกอย่างเหมือนกับตัวเราไม่มีผิด..


"ตอนเลาะเอาส่วนใบหน้าออกมา แล้ววางไว้ข้างหูของเขา ใบหน้านั้นดูเหมือนหน้ากากยาง มีปลายจมูกที่เป็นกระดูกอ่อนติดมาด้วย ทำให้เรายังจำได้ว่าเป็นหน้าของคนนี้ ส่วนข้างใต้หน้ากาก เป็นเพียงกะโหลกที่มีเนื้อแดงๆ ติดอยู่ไม่มีอะไรเหลือให้เราจดจำได้อีกต่อไป


"ความรู้สึกที่ว่าใบหน้านั้นเหมือนหน้ากากยางวางเคียงข้างกับกะโหลก กระทบใจเรามาก

ทำให้มารู้ว่า อ้อ..ที่ใครๆ เขาว่าเป็นจำนงศรี ก็หน้ากากอันนี้ นี่เอง หน้ากากที่ลอกออกเมื่อไรก็ได้"


“ตอนที่เลาะตับไตไส้พุงออกมาเป็นพวง ก็วางรู้ว่า โลกทั้งโลกของจำนงศรีคนนี้ จริงๆ แล้ว มันแขวนอยู่กับเนื้อสดแค่นี้แหละนะ”


“จำได้ว่าศพนั้นเป็นของชายหนุ่มอายุ 42 ปี” โลกที่มีความรัก ความสุข ความทุกข์ ความคิด ความฝันมากมาย และความทรงจำ ที่ครั้งหนึ่งเป็นของชายคนนี้ ได้สิ้นสุดลงแล้ว คุณหญิงบอกว่า “นึกขอบคุณเขาที่ให้โอกาสเราได้สัมผัสรู้เช่นนี้”


ราวปลายปี 2565 คุณหญิงเขียนเล่าถึงประสบการณ์พิเศษที่เรียกกันว่า life Review ไว้ว่า



“เช้าวันหนึ่งเมื่อสักประมาณ 3 ปีมาแล้ว(พ.ศ. 2562) ตื่นนอน ลืมตาขึ้นมา เห็นทุกอย่างในห้องนอนเหมือนที่เห็นอยู่ทุกเช้าจนเคยชิน สภาพจิตใจก็เป็นธรรมดาๆ ยังไม่ทันลุกขึ้นจากเตียง ก็เกิดวาบอดีตของทั้งชีวิตขึ้นในการรับรู้ เป็นเหมือนฟ้าแลบแว่บให้เห็นในเสี้ยววินาทีนั้น แล้วก็หายไป ทำให้เกิดความเข้าใจถึงสิ่งที่นักเขียน นักคิด และจิตแพทย์ชาวตะวันตกเรียกว่า ‘Life Review’ ซึ่งเป็นที่ว่ากันว่า เกิดกับคนหลายคนในจังหวะที่จะตาย และเกิดครั้งเดียวในชีวิตของคนคนหนึ่ง จริงเท็จอย่างไรป้าศรีไม่ทราบ


สำหรับป้าศรี ประสบการณ์ life review ที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นและยังมีชีวิตอยู่ต่อมานั้น มีคุณค่ามหาศาล เพราะมันทำให้อดีตทั้งอดีตร่วงหลุดไปจากความเป็นอดีตของเรา เหมือนม้วนหนังที่ฉายพรวดเสร็จสิ้นไป หรือหนังสือที่อ่านรวดจบแล้วถูกใครดึงจากมือไป


ไม่เชิงลืมหายหมดนะคะ อะไรที่ยังจำได้ก็ยังจำได้ แต่มันเหมือนเป็นเรื่องราวของคนอื่นไปแล้ว คนที่ดูเหมือนเป็นคนเดียวกับเรา แต่เป็นเรื่องราวของเขา เราก็ยังรู้เรื่องราวนั้น แต่อย่างว่าแหละ มันเป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่ไม่ใช่ฉัน เป็นความคิดความรู้สึกของคนคนหนึ่งที่ไม่ใช่ของฉัน

แม้กระทั่ง เส้นผม เล็บ และ เซลล์ต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะมันเกิด มันดับของมันอยู่ตลอดเวลา เป็นกระบวนการให้อาศัยใช้งาน


ระหว่างคนสองคนในภาพนี้ คนที่อยู่ในภาพในกรอบรูป วัยประมาณ 46-47 มัง ส่วนคนใส่เสื้อสีฟ้านอกกรอบรูป เป็นอีกคนหนึ่ง ในวันที่เขาอายุ 60 เต็ม เขาคิดกันคนละเรื่อง มีความรู้สึกคนละอย่าง


ทั้ง 2 ภาพเป็นภาพของคนที่ฉันเคยเป็น เคยรู้สึก แต่ไม่ใช่ฉันคนนี้ที่กำลังเขียนข้อความนี้อยู่ ปัจจุบันไม่มีเขาทั้ง 2 แล้ว แม้ในอดีตที่เวลาต่างกัน เขาทั้งสองคนก็ไม่ใช่คนเดียวกัน เขาทั้งสองเป็นของคนละช่วงเวลา ที่ห่างกันประมาณ 15 ปี ความคิดความรู้สึกตัวตนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป็นแค่ความทรงจำของใคร มิใคร ที่แต่งต่างกันออกไป


เขาทั้งสองคน จะเชื่อมโยงเป็นคนเดียวกันก็ต่อเมื่อคนในเสื้อสีฟ้ายึดกับความรู้สึกนึกคิดในอดีตมาผูกพันกับปัจจุบันของตน แต่ในเมื่อทั้งสองคนไม่มีตัวตนในปัจจุบันวันนี้แล้ว เขาก็เป็นแค่ใครในอดีตที่หลุดจากความเป็นตัวเป็นตนไปแล้ว


พูดตรงๆ ได้ว่า ถ้าป้าศรีในปัจจุบันได้มานั่งกับผู้หญิงคนที่อยู่ในกรอบรูปนั้น ป้าศรีคงจะไม่เห็นว่าเธอน่ารักสักเท่าไหร่ เธออัตตาสูง ขาดสติ ไขว่คว้าหาสุขด้วยความโลภ ความหลง แต่เธอก็เป็นคนอื่น เรื่องราวของเธอเป็นอดีตที่ไม่มีอยู่ในความเป็นจริงของปัจจุบันแล้ว ความผิดพลาด โง่เขลาของเธอ กลายเป็นครู แล้วก็จบไป


ผลพวงที่สะสมคือ การเรียนรู้ที่ช่วยให้คนในเสื้อสีฟ้ามีสติปัญญาเพิ่มพูนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง สำหรับคนแต่ละคน อดีตกับปัจจุบันและอนาคต จะโยงกันก็ด้วยการกระทำอันเกิดจากเจตนาเท่านั้นแหละ เพราะการกระทำด้วยเจตนานั้นมันทิ้งร่องรอย หรือเชื้อไว้ในกระบวนการเกิดดับอันต่อเนื่องของทั้งส่วนรูปธรรมและส่วนนามธรรม รวมทั้งของเซลล์แต่ละเซลล์ หรือขณะจิตแต่ละขณะจิต


เสี้ยววินาทีของ life-review ที่อุบัติขึ้นและดับไปในเช้าวันนั้น ให้อิสรภาพข้าพเจ้าที่จะมีชีวิตอย่างไม่ล่ามติดกับอดีต โดยที่ไม่ต้องหลีก ไม่ต้องลืม ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เป็นเจ้าข้าวเจ้าของมัน

ส่วนใดของอดีตที่เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังที่อาจจะสนใจได้ความรู้ ป้าศรีกำลังให้คณะทำงานเลือกมาจัดเก็บไว้ เก็บอย่างไร้ความผูกพัน ก็มันจบไปแล้ว เมื่อจัดเก็บไว้แล้ว

มันจะสูญหาย หรือใครจะเอาไปดัดแปลงเพื่อใช้ต่ออย่างไร ป้าก็ไม่เกี่ยว


สิ้นปีนี้อายุป้าจะเต็ม 83 ขวบปี ตายเมื่อไรก็ได้ ด้วยความขอบคุณพระรัตนตรัย

ขอบคุณครูบาอาจารย์ ขอบคุณโลก ขอบคุณธรรมชาติ ดินน้ำลมไฟ

และพลังที่ดีงามทั้งหลายทั้งปวง

ขอโทษที่เขียนโพสต์ที่อาจจะอ่านยากมากโพสต์นี้

จำนงศรี"




“ ในสวนบ้านน้ำสานก็มีจุดชมวิวที่เราเรียกว่า เนินตะวันรอน ตอนเย็นๆ เราไปนั่งดูพระอาทิตย์คล้อยลับทิวเขา แสงจะค่อยๆ หลัวลงๆ จนมืดหมด มันสวย สงบ และเตือนเราว่าไม่มีอะไรที่เป็นอมตะในชีวิต ”


 



ดู 37 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page