“Do you think we should get married?”
ข้อความนี้ส่งจากอีเมลของคุณหญิงจำนงศรี ถึง ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ใน ปี 1998 สองปีก่อนถึงปี 2000 อันเป็นปีขึ้นศตวรรษใหม่ 'คริสต์ศตวรรษที่ 21'
ช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในทุกมิติ ไม่ใช่การเมืองหรือ สงคราม แต่เป็น ‘อินเตอร์เน็ต’ เทคโนโลยีพลิกโฉมหน้าโลกในศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ไปจนถึงชีวิตประจำวันและวิธีคิดของผู้คน ที่หันมาใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ (Online-เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต) มากขึ้นตลอดเวลา อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เราเรียนรู้ ติดตามข่าวสาร ช้อปปิ้ง ทำธุรกรรมการเงิน ติดต่อเพื่อน ตกหลุมรัก ฯลฯ รวมถึงเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง บนโลกออนไลน์
ภาพความหวาดกลัว AI ที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI
ภาพโดย Eleanor Smith Pixabay
เมื่อเทคโนโลยีช่วยให้คนทั่วโลก เข้าถึงข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อำนาจรัฐถูกท้าทายด้วยพลังสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย โลกดูเหมือนเล็กลง ผู้คนเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้น ในเวลาเดียวกันประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ ก่อตัวขึ้น หลังเหตุการณ์ 911 ความหวาดกลัวโลกมุสลิมเข้ามาแทนที่สงครามเย็น ขณะที่ด้านมืดของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย สั่นคลอนความมั่นคงปลอดภัยตั้งแต่ระดับบุคคลถึงระดับโลก บางครั้งไกลไปถึง ความหวาดระแวงต่อ 'ปัญญาประดิษฐ์ ' (Artificial Intelligence :AI)
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษใหม่ ชีวิตของคุณหญิงจำนงศรีในห้วงเวลานี้ เปรียบกับสายน้ำก็คงผ่านพ้นช่วงของการไหลแรงมุ่งมั่น เป็นน้ำใสไหลเย็นที่ตอบรับและโอบอุ้มสรรพสิ่งบนเส้นทาง
สงครามต้านการก่อการร้าย
ในตะวันออกกลางความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมรุนแรงขึ้นตามลำดับ เริ่มต้นจากหลัง สงครามโลกครั้งที่สอง ที่มหาอำนาจตะวันตกสนับสนุนให้ชาวยิวมาตั้งประเทศอิสราเอล ในดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ต่อเนื่องด้วยความพยายามเข้าไปมีอิทธิพลในตะวันออกกลาง ของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านพลังงานน้ำมัน
ควันจากตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นครนิวยอร์ก หลังจากเครื่องบินโบอิ้ง 767 จำนวน 2 ลำ พุ่งชน ในวันที่ 11 กันยายน 2001
ภาพโดย Michael Foran, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=11785530
เมื่อขึ้นศตวรรษที่ 21 ชื่อ อัลไคดาหรืออัลกออิดะฮ์(Al-Qaeda) เป็นที่รู้จักทั่วโลก จากการโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นครนิวยอร์ค ในวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือ เหตุการณ์ 9/11 ในวันนั้น เครือข่ายอัลกออิดะฮ์ จี้เครื่องบิน 4 ลำ โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2 ลำ ตึกเพนตากอน 1 ลำ และอีกลำตกลงกลางทุ่งหญ้าในรัฐเพนซิลวาเนีย
เป้าหมายที่กลุ่มก่อการร้ายระบุ ก็คือ ทำลายสัญลักษณ์ของทุนนิยมโลก ต่อต้านอำนาจของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรตะวันตก ส่งผลให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในทันที
สหรัฐอเมริกาเริ่มปฏิบัติการทำลายโครงสร้างพีระมิดของการก่อการร้าย โดยเริ่มจากการจัดการผู้นำและ ขบวนการก่อการร้าย จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายไปสู่การทำลายรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนขบวนการก่อการร้าย ตามด้วยการขยายอิทธิพลทางทหารไปยังโลกมุสลิมและโลกอาหรับทั้งหมด ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าทุกระดับมีความเชื่อมโยงกัน สงครามต้านก่อการร้าย จึงเริ่มที่การตามล่า โอซามา บินลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะฮ์
กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง อาทิ อัลกออิดะฮ์ ตอลิบาน ฯลฯ เห็นว่าอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งทุนนิยมและระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งชั่วร้าย ทำลายอารยธรรมอิสลาม และ คุกคามโลกมุสลิม จึงจำเป็นที่ประชาคมมุสลิมต้องต่อต้าน
หลังเหตุการณ์ 9/11 สงครามต่อต้านการก่อการร้ายเริ่มขึ้นในปี 2001 โดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร บุกอัฟกานิสถานเพื่อขับไล่กลุ่มตอลิบรนที่คนไทยเรียกว่าตาลีบัน และค้นหา บินลาเดน ทั้งนี้กลุ่มตาลีบันรับอัลกออิดะฮ์เข้ามาอยู่ในอัฟกานิสถานแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน กองกำลังสหประชาชาติโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน และทำลายโครงสร้างกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่ไม่สามารถจับกุมบินลาเดน
ในปี 2003 สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเริ่มต้นสงครามอิรัก โดยอ้างว่า อิรักมีอาวุธทำลายล้างสูง (ไม่ได้มีการพิสูจน์ในภายหลัง) และเพื่อยุติการปกครองของ ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นผู้นำที่นับถือนิกายซุนนี ในที่สุดฮุสเซนถูกตัดสินประหารชีวิต ในวันที่ 30 ธันวาคม 2006 สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้ นายกรัฐมนตรีมาลิกิ (Nouri a- Maliki) มุสลิมนิกายชีอะห์ขึ้นบริหารประเทศ (ค.ศ.2006- 2014) สร้างความขัดแย้งกับผู้นับถือนิกายซุนนีซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ต่อมากลุ่มซุนนีเคร่งศาสนาและอัลกออิดะห์ในอิรัก ที่ไม่พอใจการแผ่อิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลชีอะห์ จัดตั้งขบวนการรัฐอิสลาม (Islamic State of Iraq) หรือ ไอเอส ขึ้น
ในปี 2011 รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่าหน่วยซีลของกองทัพเรือได้สังหารบินลาเดน และฝังศพของเขาในทะเล กองกำลังพันธมิตรเสียชีวิตในสงครามนี้ 1,553 ราย (ระหว่างปี 2001-2009) อย่างไรก็ตาม สงครามศาสนายังไม่หายไปจากโลกมุสลิม
ต่างจากยุคสงครามโลกและสงครามเวียดนาม ผู้คนทั่วโลกได้เห็นภาพสงครามอ่าวและการโจมตีตึก เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในเวลาอันรวดเร็วผ่านเคเบิลทีวีและอินเตอร์เน็ต ในขณะที่กลุ่มก่อการร้ายก็สามารถ มีช่องทางสื่อสารของตัวเองบนโลกออนไลน์
ชีวิตติดโซเชียล
วัฒนธรรมเครือข่ายออนไลน์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของสื่อใหม่ในอินเทอร์เน็ต รวมถึงธุรกิจออนไลน์ ผ่าน ‘อีคอมเมิร์ซ’ ในไม่ช้าผู้คนก็ช้อปปิ้ง พูดคุย เรียนรู้ ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา พร้อมกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น
ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรโลก นำไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กมากมายเกิดขึ้น ทำให้ผู้คนยังคงรักษาความสัมพันธ์ได้แม้จะอยู่ห่างไกล
ต้นปี 2001 วิกิพีเดียเปิดตัว และกลายเป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลาต่อมา เป็นหนึ่งในไซต์ ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด ต่อมาในปี 2004 Mark Zuckerberg ก่อตั้ง Facebook เครือข่ายโซเชียลที่มีผู้ใช้ถึง 350 ล้านคนทั่วโลก (ปี 2010) YouTube ไซต์ สำหรับการแบ่งปันวิดีโอที่ใหญ่ที่สุด เปิดตัวในปี 2005 ตามด้วย Twitter ที่ก่อตั้งขึ้นในปีเดียวกัน
อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลา ส่งผลต่อวิธีการทำงานและวิถีชีวิตของผู้คน คอมพิวเตอร์และแล็ปท็อปช่วยให้คนสามารถทำงานที่บ้าน หรือที่ไหนๆ ในโลกที่มีอินเตอร์เน็ต ขอบเขตระหว่างการทำงานและชีวิตประจำวันเริ่มรางเลือน
อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตมีด้านมืดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การกล่าวร้ายผู้อื่นโดยไม่เปิดเผยตัวตน ล่อลวงเด็กหรือผู้ที่ไม่ระวังตัว รวมถึงแฮ็กเกอร์ที่พึงใจในความสามารถในการเจาะข้อมูล และความเสียหายจากไวรัสคอมพิวเตอร์
แม้คอมพิวเตอร์จะมีศักยภาพสูง แต่ยังมีความกังวลถึงข้อผิดพลาดที่อาจสร้างความเสียหาย ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ระดับชาติ หรือกระทั่งระดับโลก ความกังวลถึงความผิดพลาดของคอมพิวเตอร์สะเทือนโลก คือ Y2K ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2000 เมื่อปี 1999 เปลี่ยนเป็นปี 2000 และชิปคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโลกอาจตั้งเวลาเป็น ปี 1900 นำไปสู่ความเสียหายที่ไม่อาจคาดการณ์ รวมทั้งหายนะทางเศรษฐกิจ
ภาคธุรกิจและรัฐบาลทั่วโลก ใช้เงินหลายพันล้านเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ Y2K และความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงในส่วนของวิศวกรซอฟต์แวร์ ทำให้ไม่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ เมื่อนาฬิกาเคลื่อนเข้าสู่ปี 2000
จากนั้นโลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคสังคมออนไลน์ ที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ทั้งปัจเจกบุคคล องค์กรเอกชน องค์กรธุรกิจ รัฐ ใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย ตั้งแต่ชื่อเสียง การตลาด การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ทุกอย่างที่เป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันสามารถดำเนินได้บนโลกออนไลน์
ในขณะที่ภาครัฐและเจ้าของแพลตฟอร์ม รวมถึงไซต์ต่างๆ พยายามในการหาหนทางรับมือกับด้านมืด ด้วยการใช้กฎ ระเบียบ ไปถึงข้อบังคับทางกฎหมาย เพื่อควบคุม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันปัญหาจากทั้งความบกพร่องของเทคโนโลยีและผู้ใช้
สมาร์ทโฟน
โทรศัพท์ฝาพับและโทรศัพท์แบบแป้นพิมพ์ ถือเป็นมาตรฐานทั่วไปในช่วงทศวรรษ 2000 เริ่มจาก Nokia 1100s ขายได้กว่า 250 ล้านเครื่อง ตั้งแต่เปิดตัวในช่วงปลายปี 2003 ถึงปี 2009 นับเป็นโทรศัพท์มือถือที่ขายดีที่สุดในโลก ก่อนการเข้ามาแทนที่ของสมาร์ทโฟน ที่รวมโทรศัพท์เข้ากับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
สมาร์ทโฟนเครื่องแรกเป็นผลงานของไอบีเอ็ม ที่เปิดตัว ไอบีเอ็ม ไซมอน หน้าจอสัมผัสพร้อมระบบผู้ช่วยดิจิตอลในปี 1994 แต่ขายได้ในแวดวงจำกัด ราว 50,000 เครื่อง และไม่มีการพัฒนาต่อ ในปี 2000 มีการพัฒนามือถือแบบสมาร์ทโฟนจากหลายหลายบริษัท โดยมีคุณสมบัติใหม่ๆ เช่น การส่งข้อความ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ฝาพับ และ บลูทูธ
ไอโฟนสิ่งประดิษฐ์ยอดยี่ยมแห่งปี 2007
แต่ผู้ที่ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก คือค่ายแอปเปิล โดย สตีฟ จอบส์ ที่นำ iPhone เข้ามาเปิดศักราชใหม่ของสมาร์ทโฟน ในปี 2007 และภายใน 30 ชั่วโมงแรกที่เปิดตัว ไอโฟนรุ่นแรกขายได้ 270,000 เครื่อง และในปีนั้น นิตยสาร Time ยกย่องให้ไอโฟนเป็นสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี จากหลักการที่ สตีฟ จอบส์ ตั้งไว้ว่า เขาต้องการสร้างอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย มีความสามารถอเนกประสงค์ สามารถถ่ายโอนข้อมูลหลากหลายได้อย่างราบรื่น เป็นที่มาของแพลตฟอร์มประสิทธิภาพสูง ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียกดูเว็บไซต์ สตรีมวิดีโอ และเล่นเกมได้ ในอุปกรณ์เครื่องเดียว
ด้วยศักยภาพดังกล่าว โทรศัพท์มือถือเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ต และกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่
สังคมและวัฒนธรรมในโลกเสมือน
ทศวรรษที่ 2000 เป็นทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมสมัยนิยม(Pop Culture) จากอิทธิพลของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอุปกรณ์มือถือ และอุปกรณ์เกมออนไลน์
โปสเตอร์ Avatar
โลกภาพยนตร์เปลี่ยนไปอย่างน่าตื่นตาด้วยเทคโนโลยี ความสำเร็จของ Avatar แสดงให้เห็นความก้าวหน้าของการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Generated/ Computer Graphic : CG) เทคโนโลยีใหม่นี้สร้างความสำเร็จให้กับทั้งภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันที่มีตัวละครจากคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน เช่น Casper, 101 Dalmatians, Men in Black, Stuart Little และ ภาพยนตร์แอนิเมชั่น เช่น Shrek (2001)
ความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์กราฟิกยังมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของ Harry Potter ภาพยนตร์แฟนตาซีหลายภาคต่อ จากบทประพันธ์ของ เจ. เค. โรว์ลิง ที่กลายเป็นนักเขียนขายดีที่สุดในโลกจากหนังสือชุดนี้ และ ผลงานของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน The Lord of the Rings และ The Hobbit นอกจากนี้ยังภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร เช่น X-Men และชุดโจรสลัด Pirates of the Caribbean
สุดท้ายภาพยนตร์เข้าสู่โลกออนไลน์ให้ผู้ชมสามารถเลือกชมภาพยนตร์ที่ชอบจากทุกยุคสมัยได้ทุกที่ ทุกเวลา ทางด้านการถ่ายทำภาพยนตร์เปลี่ยนจากฟิล์มเป็นภาพยนตร์ดิจิทัล และภาพยนตร์เก่าได้รับการเก็บรักษาไว้ในรูปไฟล์ดิจิตอล เช่นเดียวกับดนตรีและวิดีโอ ที่ได้รับการบันทึกหรือแปลงไฟล์เป็นดิจิตอล เพื่อเผยแพร่ออนไลน์
ส่วนรายการโทรทัศน์มีความพยายามอย่างหนักที่จะต่อสู้กับภาพยนตร์ อาวุธสำคัญคือ ละครซีรีย์และเกมโชว์ ในทศวรรษ 2000 เป็นช่วงเวลาของ เรียลลิตี้ทีวี รายการกลุ่มนี้เป็นการแข่งขันกันเองเพื่อชิงรางวัลหรือเอาชีวิตรอดจากความท้าทาย และท้ายที่สุดรายการทีวีเหล่านี้ ก็ต้องเอาชีวิตรอดจากความท้าทายของยุคอินเตอร์เน็ต ด้วยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์
League of Legends หนึ่งในเกมส์ที่เล่นกันทั่วโลก
ทางด้านเกมคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตช่วยพัฒนาเกมสู่เกมออนไลน์ สร้างโลกที่ผู้คนสามารถเล่นเกมด้วยกันได้จากทุกที่ในโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ การเล่นเกมแบบผู้เล่นหลายคนต้องอาศัยการเชื่อมต่อด้วย LAN แต่การก่อตั้งเครือข่ายเกมออนไลน์อย่าง Steam และ Xbox Live เมื่อรวมกับการพัฒนาเกม การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์และการพัฒนาเครื่องเล่น ส่งผลให้ผู้เล่นสามารถสำรวจโลกเสมือน อันกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด และโต้ตอบกับผู้เล่นคนอื่นๆ ทั่วโลก
สำหรับด้านดนตรีและเพลง แนวเพลงฮิปฮอปซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 ได้รับความนิยมแพร่หลาย ในทศวรรษ 2000 ด้วยความสามารถในการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน และขยายออกไปยังที่อื่นในฐานะแนวเพลงที่ช่วยระบายความรู้สึกต่อสังคมวัฒนธรรมรอบตัว ในขณะที่แนวเพลงอาร์แอนด์บีได้รับความนิยมเนื่องจากความสามารถให้ภาพประสบการณ์ทางอารมณ์ ของหนุ่มสาวในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ
ธงสีรุ้ง ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ก้าวขึ้นสู่ศตวรรษใหม่ การต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไป และขยายเข้าสู่การรณรงค์ในโลกออนไลน์ ส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมีพลังมากยิ่งขึ้น จากพันธมิตรทั่วโลกที่ต้องการขับเคลื่อนในประเด็นเดียวกัน อาทิเช่น การรณรงค์ผ่าน ‘สีรุ้ง’ ทั่วโลกเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)
ทั้งนี้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมาย ให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันในปี 2001 และเมื่อถึงปี 2009 การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน เป็นเรื่องถูกกฎหมายใน 10 ประเทศ รวมถึงในบางรัฐของเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา
จีนผงาด
ตึกระฟ้าในนครเซี่ยงไฮ
ภาพโดย Rodrigo.Argenton - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=127662656
ปลายศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยในสหรัฐเริ่มจากวิกฤต Dotcom ในปี 2000 และตามมาด้วยวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 นำไปสู่การล้มละลายของธนาคารขนาดใหญ่และสถาบันการเงินอื่นๆ เป็นผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นับเป็นวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1
ในทางตรงกันข้ามเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2000 เศรษฐกิจจีนและอินเดีย เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับเลขสองหลัก เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่มีประชากรจำนวนมหาศาล และการเข้ามาลงทุนของบรรษัทข้ามชาติ ที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่และต้นทุนในการผลิตต่ำจากค่าแรงราคาถูก
จีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มดำเนินการปฏิรูปประเทศปลายปี 1978 โดยเปิดเศรษฐกิจและการค้ากับโลกตะวันตก และอนุญาตให้วิสาหกิจทุนนิยม ดำเนินการในระบบสังคมนิยมแบบตลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาพลังการผลิต จนกระทั่งจีนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลก
นับจาก ปี 1989 จีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณ 9.0% ต่อปี และเมื่อถึงปี 2010 จีนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และมีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลก ส่งผลให้เงินหยวนก้าวขึ้นมาท้าทายความเข้มแข็งของอเมริกันดอลลาร์
ทิศทางเศรษฐกิจจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มุ่งมั่นสร้างจีนเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก โดยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้จีนสามารถแข่งขันได้ทั่วโลกและพึ่งพาชาติอื่นน้อยลง ส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสีเขียว
ไวรัสระบาด
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษใหม่ โลกเผชิญกับการโจมตีของไวรัสสายพันธุ์ใหม่หลายครั้ง โดยในปี 2002 เกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ในฮ่องกง และกระจายไป 37 ประเทศ มีผู้ป่วย 8,273 ราย และ เสียชีวิต 775 ราย ทั่วโลก (เสียชีวิต 9.6%)
ต่อมาใน ปี 2009 เกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ H1N1 (ไข้หวัดหมู) รวมผู้เสียชีวิตทั่วโลก กว่า 18,138 ราย
ล่าสุดการระบาดทั่วโลกของ โควิด19 ที่เริ่มขึ้นในปี 2019 ที่ทวีความรุนแรงเข้าสู่ขั้นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) จนนำไปสู่นโยบาย Lock Down ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ก็ไม่สามารถยุติการแพร่ระบาดของโรคได้ สุดท้ายต้องยอมรับว่าโลกก้าวเข้าสู่ New Normal ยอดผู้ป่วยในช่วงปี 2020-2021 รวมมากกว่า 657 ล้านคน ผู้เสียชีวิตกว่า 6.7 ล้านคน ในขณะที่การคำนวณของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงน่าจะสูงถึง 18 ล้านคน
ผู้คนใช้ชีวิตประจำวันใต้หน้ากากหลังการระบาดของโควิด 19
โควิด-19 กลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งความก้าวหน้าในหลายด้านที่สะสมมาหลายทศวรรษ ไม่มีชาติใดที่รอดพ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แม้แต่จีนที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังการระบาดของโควิด19 เศรษฐกิจของจีนลดการเติบโตลงจากร้อยละ 9 เหลือเพียงร้อยละ 4.5 ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าประเทศยากจนได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศพัฒนา
โรคระบาดครั้งใหญ่นี้ สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ซ่อนเร้นอยู่ในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ในด้านหนึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลให้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นอยู่นั้นเลวร้ายลงไปกว่าเดิม
แต่ในทางตรงกันข้าม วิกฤตโควิด-19 นั้นเปิดโอกาสให้สถาบันในระดับต่างๆ ตั้งแต่รัฐ, สถาบันนโยบาย, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงนักวิชาการแขนงต่างๆ ได้ทบทวนการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายใหม่ (Reprioritization of the Goal) มองเห็นปัญหาของรูปแบบทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 20 และหาทางเลือกใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 อาทิเช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นต้น
จิตเวชและการต่อสู้กับวัย
อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีคุณูปการสำคัญคือ ช่วยให้คนติดต่อใกล้ชิดกันแม้จะอยู่ห่างไกล แต่ในอีกด้านกลับพบว่า ปฏิสัมพันธ์ของคนในโลกจริงลดน้อยลง คนจำนวนมากอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ‘ติดโซเชียล’ หรือ การเสพติดโซเชียลมีเดีย (Social Addiction) จนเกิดผลกระทบกับชีวิตประจำวัน เช่น การงาน การเรียน ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า โรคเครียด สมาธิสั้น และไบโพลาร์ได้
นอกจากนี้ยังมีปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในหลายรูปแบบ อาทิ การทำให้อับอาย แอบอ้างตัวตนของผู้อื่น สร้างข่าวปลอม ฯลฯ นำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อจิตใจและหลายกรณีรุนแรงถึงระดับการฆ่าตัวตาย
ท่ามกลางปัญหาด้านจิตเวชที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากการรณรงค์เพื่อลดปัญหาการเสพติดโซเชียล และการกลั่นแกล้ง รวมทั้งการใช้มาตรการทางกฎหมายและกฎระเบียบในการควบคุม ยังมีความพยายามพัฒนายาเพื่อรักษาความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น ยาต้านภาวะซึมเศร้า ที่ทำให้การรักษาด้านจิตเวชได้ผลดีกว่าในอดีต
อีกแนวโน้มสำคัญของพัฒนาการด้านสุขภาพ คือเวชศาสตร์ชะลอวัย ตอบรับแก่ตัวลงของเหล่าเบบี้บูม โลกเข้าสู่ยุคของคนสูงวัย ผลิตภัณฑ์แก้ปัญหาอันมาพร้อมกับวัยได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านสุขภาพและความงาม เช่น การฉีดโบท็อกซ์เพื่อแก้ไขปัญหาริ้วรอย โดยการทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาต และไวอากร้าแก้ปัญหาความอ่อนแอของผู้ชาย เป็นต้น
โลกร้อนและสึนามิ
การเติบโตทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ผ่านมา แลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ปัญหาที่โลกต้องเผชิญในศตวรรษนี้ คือ ผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
แม้มีความพยายามจากประชาคมโลก ผลักดันให้นานาประเทศหันมาพัฒนาประเทศบนเส้นทางที่คำนึงถึงความยั่งยืน แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังคงมุ่งหน้าพัฒนาโดยเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ในกรณีของจีนที่เร่งเป้าหมายเป็นโรงงานของโลก นำไปสู่การขุดใช้พลังงานจากถ่านหินจำนวนมหาศาล ส่งผลให้จีนเผชิญกับปัญหามลภาวะอากาศระดับรุนแรง จนต้องปรับยุทธศาสตร์ไปพัฒนาโครงการเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเริ่มต้นจากโครงการเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ในปี 1993 ที่ได้ชื่อว่าเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลกบริเวณหน้าผาต้นน้ำแยงซี เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2003 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 22.5 ล้านกิโลวัตต์
ในขณะที่มีรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงทั้งในส่วนของระบบนิเวศน์เหนือเขื่อนและบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง ที่ตั้งของเมืองเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ไม่นับผลกระทบในช่วงก่อสร้างเขื่อน ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมจำนวนมหาศาล มีเมืองถูกน้ำท่วม 116 เมือง ประชาชนต้องอพยพจากพื้นที่ราวหนึ่งล้านคน
ความต้องการพลังงานของจีนนำไปสู่โครงการเขื่อนในแม่น้ำอื่นๆ รวมถึงแม่น้ำโขง จีนมีแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง 8 เขื่อน สร้างเสร็จแล้ว 4 เขื่อน ในช่วงปี (1996-2012) ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในประเทศอื่นๆ ที่อยู่ด้านล่างของจีน รวมถึงประเทศไทย
ในทศวรรษที่ 2000 อุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization - WMO) ได้ประกาศว่าทศวรรษที่ 2000 เป็นทศวรรษที่มีอากาศอบอุ่นที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี 1850 มีความพยายามออกกฎหมายการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรมและรถยนต์ในหลายประเทศ รวมถึงใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการลดผลกระทบด้าน
สิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องสำนักงานไร้กระดาษ ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ การรีไซเคิล ฯลฯ
ส่วนภัยพิบัติครั้งใหญ่ในต้นศตวรรษ เป็นภัยธรรมชาติที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 เมื่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี ขนาด 9.3 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์(สึนามิ) ซัดเข้าพื้นที่ชายฝั่งริมมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ เมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงไทย มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 230,000 คน
ความเสียหายจากสึนามิในไทย
ในเวลานั้น สำหรับประเทศไทยเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ และเดือนธันวาคมเป็นช่วง ‘ไฮซีซัน’ โดยเฉพาะชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต, พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และ สตูล ล้วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ ภูเก็ตและพังงา ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 ราย บาดเจ็บกว่า 8,000 ราย และมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก
ในด้านเศรษฐกิจ ความเสียหายของทรัพย์สิน ตลอดจนระบบ สาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน มูลค่าหลายพันล้านบาท นำไปสู่ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการประมง ธุรกิจชุมชน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ซบเซาลงไปจนสิ้นทศวรรษ 2000 ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวและเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 คืนมาใหม่ ในเวลาถัดมา
ยุคประชานิยม
ในช่วงวิกฤตการณ์สึนามิ เป็นยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ.2544 ด้วยชัยชนะแบบถล่มทลายของพรรคไทยรักไทย จากความคาดหมายถึงความสามารถของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ประกอบกับการสร้างคะแนนเสียงด้วยนโยบาย ที่ต่อมาเรียกกันว่า ‘ประชานิยม’ โดยเฉพาะนโยบายสุขภาพถ้วนหน้า ที่พรรคไทยรักไทยรับแนวคิดมาจาก น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงค์
ด้วยการส่งมอบนโยบายที่หาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon, One Product: OTOP) 30บาทรักษาทุกโรค โครงการบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ ทำให้รัฐบาลทักษิณ เข้มแข็งด้วยความนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกที่มีอายุครบ 4 ปี และได้ชัยชนะท่วมท้นกว่าเดิมในการเลือกตั้งครั้งต่อมา (กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548) สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
แม้ว่านโยบาย ‘ประชานิยม’ ของรัฐบาลทักษิณ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปในหลายด้าน อาทิ เกิดภาคการผลิตใหม่ของธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) เกิดธุรกิจระดับชุมชน เกิดสวัสดิการด้านสุขภาพ และที่อยู่อาศัย แต่ภาคสังคมและนักวิชาการจำนวนมาก ตั้งคำถามและข้อวิจารณ์ต่อรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะในส่วนของภาวะที่เรียกว่า ‘เผด็จการรัฐสภา’ และ ‘การทุจริตเชิงโครงสร้าง’
สถานการณ์ต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยพุ่งขึ้นสูงสุด เมื่อทักษิณขายหุ้นชินคอร์ป 76,000 ล้านบาทให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ ในเดือนมกราคม 2549 นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในข้อหาขายชาติ หลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงออกกฎหมายเพื่อเอื้อผลประโยชน์ตนเองและครอบครัว กระแสโจมตีก่อตัวอย่างรุนแรงในหมู่ชนชั้นกลางนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของกลุ่ม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ หรือ ‘คนเสื้อเหลือง’ และรัฐบาลประกาศยุบสภา ฯ
รัฐประหาร
จากนั้นมีการเลือกตั้งใหม่และยุบสภาอีกสองครั้ง โดยพรรคไทยรักไทยยังคงเป็นผู้นำรัฐบาล ท่ามกลางกระแสต่อต้านของคนเมือง และก่อนมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลี้ภัยในต่างประเทศ
คณะรัฐประหารแต่งตั้งให้ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้การสนับสนุน ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และประกาศให้มีการเลือกตั้งในปี 2551 พรรคไทยรักไทยซึ่งถูกสั่งยุบและเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งอีกครั้ง นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ภายใต้การต่อต้านของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย ที่มองว่าเป็นรัฐบาลตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ในปีเดียวกันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชนและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551 ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกทักษิณ ต่อมาในปี 2553 วันที่ 12 มีนาคม หลังการประกาศยึดทรัพย์ทักษิณ กลุ่มคนเสื้อแดง ภายใต้การนำของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมชุมนุมต่อสู้ไม่เอารัฐประหารและไม่เอาเผด็จการ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่
รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศสลายการชุมนุม ภายใต้ประกาศ‘ขอคืนพื้นที่’ และ ‘กระชับพื้นที่’ หลายครั้ง นับจากวันที่ 10 เมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา ปี พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคใหม่ภายใต้การสนับสนุนของทักษิณ ชินวัตร ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลาย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อต้านและข้อครหามากมาย รวมทั้งการเป็นรัฐบาลตัวแทนของทักษิณ
ตั้งแต่ปลายปี 2556 การชุมนุมภายใต้การนำของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เริ่มขึ้น หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม(เพื่อช่วยอดีตนายกทักษิณ) รวมถึง ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตโครงการจำนำข้าว นำไปสู่การชุมนุมต่อเนื่องและปิดสนามบิน
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่กลุ่มกปกส. เรียกร้องให้จัดระบอบการปกครองแบบใหม่โดยสภาประชาชน ก่อนจัดการเลือกตั้ง สถานการณ์นี้นำไปสู่ทางตันทางการเมืองและรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา เป็นหัวหน้าคณะ และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
วิถีไทยออนไลน์
รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยเรื่อง“ผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไทยในมุมมองของนักมานุษยวิทยา” พบว่าสื่อสังคมออนไลน์สร้างการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Mobile Life หรือ ‘พลวัตวิถี’ ทำให้ข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่หายไป ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารและการใช้งานต่างๆ สามารถทำได้ในทุกที่ทุกเวลา
ส่วนผลกระทบที่เป็นลักษณะเด่นในบริบทของสังคมไทยคือ สื่อสังคมออนไลน์ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคม ผ่านการสร้างพื้นที่ใหม่ในการนำเสนอตนเอง ผู้หญิงมีความกล้าในการนำเสนอตนเองมากขึ้นในสื่อของตน
นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์ทำให้การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นกว่าการพบเจอกันบนโลกความจริง เกิดคำศัพท์และรูปแบบของภาษาใหม่ๆ ที่สำคัญสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการรวมตัวทางการเมือง ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง
ในส่วนของวัยพบว่า ผู้สูงอายุ(อายุ 61 ปีขึ้นไป) เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในปริมาณมาก เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีเวลาและมีความต้องการเข้าสังคม แต่สื่อสังคมออนไลน์ก็ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนวัยนี้ จึงพบปัญหาการแชร์สิ่งที่ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะการแชร์เพราะความสงสาร ประกอบกับประสบการณ์ในการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์น้อยกว่าวัยอื่นๆ จึงถูกหลอกได้ง่าย
ด้านการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ (Cyber/Internet Bullying) พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจัยจึงมีข้อเสนอให้ส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์และวางแนวทางป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์
หนังไทยในศตวรรษใหม่
ภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล เมื่อ บริษัทอาร์ เอส ฟิล์ม ผลิตภาพยนตร์เรื่อง ปักษาวายุ ด้วยระบบดิจิทัล ในปี พ.ศ.2547 นับจากนั้นภาพยนตร์ไทยเกือบทั้งหมดถ่ายทำด้วยระบบดิจิทัลแทนฟิล์ม เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยมีต้นทุนถูกลง มีความคงทนของคุณภาพ แม้นำไปฉายหลายๆ ครั้ง และไม่เสื่อมสภาพเมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้ยุคของฟิล์มสิ้นสุดลง แม้จะมีผู้กำกับหรือนักแสดงบางส่วนที่เห็นว่า ฟิล์มให้ภาพที่สวยงามมากกว่าก็ตาม
ส่วนโรงภาพยนตร์ระบบดิจิทัล เริ่มขึ้นในปี 2550 ตามระบบการผลิตภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์เปลี่ยนจากโรงขนาดใหญ่ เป็นระบบมัลติเพล็กซ์ มีโรงภาพยนตร์เล็กๆ หลายโรงอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ผู้ชมได้เลือกชมภาพยนตร์ได้หลากหลาย
ในยุคนี้ สื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญ ทั้งในการสนับสนุนและต่อต้านภาพยนตร์ เช่น การสร้างกระแสความนิยม เป็นประโยชน์ต่อหนังต้นทุนต่ำโดยสามารถทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย ในขณะเดียวกันควบคุมผลได้ลำบาก เพราะความเห็นด้านลบส่งผลทำให้ยอดผู้ชมลดได้อย่างฉับพลันเช่นกัน
แฟนฉัน กลับมาฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ปี 2566 ด้วยต้นฉบับใหม่ ความคมชัดระดับ 4K
ภาพจาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=591222456556352&id=100070058088304&set=a.496961212649144
ถึงยุค 2000 ภาพยนตร์ Hollywood ยังคงครองใจคนไทย ส่วนภาพยนตร์ไทยมีจำนวนน้อยที่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ อาทิ แฟนฉัน ผลงานร่วมกันของผู้กำกับหน้าใหม่ 6 คน จากค่าย GTH สร้างหนังต้นทุนน้อยที่ทำรายได้มากกว่าร้อยล้านบาท ที่สำคัญสร้างกระแสให้คนกลับมาดูหนังไทยและสร้างผู้กำกับหน้าใหม่ให้วงการ รวมทั้งสร้างกระแสถวิลหาอดีต (nostalgia) ต่อมาอีกนาน
ภาพยนตร์ไทยในยุคนี้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษใหม่ เช่น การประชดประชันความเป็นเมือง ใน หมานคร ของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ความแตกต่างของคนในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นตามความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยี ใน เฉิ่ม ของ คงเดช จาตุรนต์รัศมี ความขัดแย้งของคนต่างรุ่น และการแสวงหาเป้าหมายใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ เช่น พลอย ของ เป็นเอก รัตนเรือง และ
รักแห่งสยาม ของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ภาพยนตร์ที่พูดถึงการปะทะกับอิทธิพลของตะวันตก รวมถึงมิติความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม อย่าง 15 ค่ำเดือน 11 ของจิระ มะลิกุล โหมโรง ของ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์
บนเวทีโลกภาพยนตร์ไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากผลงานของผู้กำกับเลือดใหม่ โดยเฉพาะ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล เจ้าของหลายรางวัลจากเวทีระดับโลก อาทิ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553 ) ที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ อันเป็นรางวัลสูงสุด จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการระลึกความทรงจำต่อผู้คนในหมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม พื้นที่สำคัญที่เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาลไทย เมื่อ พ.ศ. 2508
นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จทางการตลาด สร้างพื้นที่ใหม่ให้ภาพยนตร์ไทย ในฐานะสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม เช่น องค์บาก และต้มยำกุ้ง ของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ฉลาดแกมโกง ของ ณัฐวุฒิ พูนพิริยะ ร่างทรง ของ บรรจง ปีสัญธนะกุล
ภาพยนตร์ไทยยังเป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่าน ช่องทาง Streaming ที่กลายเป็นช่องทางหลักของ การรับชมความบันเทิงทุกประเภท โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ ผู้คนเข้าโรงภาพยนตร์น้อยลงมาก แพลตฟอร์มสตรีมมิงภาพยนตร์เป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตใหม่ๆ ผู้สร้างหนังไทยจำนวนหนึ่งเข้าสู่ระบบการผลิตร่วมกับบริษัทสตรีมมิง นอกจากนี้ยังเป็นการต่อเวลาในการขาย (life cycle) ของภาพยนตร์ไทยซึ่งเดิมมีเวลาขายแค่ช่วงสั้นๆ ในโรงภาพยนตร์
วรรณกรรมยุคใหม่และพื้นที่ออนไลน์
วรรณกรรมไทยในยุคไร้พรมแดน มีความหลากหลายของแนวคิดและแนวทางการเขียนมากขึ้น เช่น วรรณกรรมแนวทดลอง ของ วินทร์ เลียววาริณ ที่นำศิลปะแขนงอื่นเข้ามาผสมในงานเขียน วรรณกรรมเมตาฟิคชั่นที่เป็นการเล่าเรื่องซ้อนเรื่อง เอาเบื้องหลังการสร้างเรื่องมาเป็นเรื่องหลัก เช่น สินในน้ำฝน ของอัญชัน แนว Magical Realism เช่น แม่มดแห่งหุบเขา ของกนกพงศ์ สงสมพันธ์
ภาพจาก https://m.se-ed.com/
นอกจากนี้ วรรณกรรมที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศส่งอิทธิพลต่อกระแสงานเขียนของไทย เช่น เกิดกระแสเขียนเรื่องแนวแฟนตาซีจากวรรณกรรมชุด แฮรี่ พอตเตอร์ และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริง แนวสืบสวนสอบสวนอิงประวัติศาสตร์ จากนวนิยายของ แดน บราวน์ เป็นต้น
โลกการอ่านเปลี่ยนผ่านจากการอ่านบนกระดาษเป็นการอ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นตลอดเวลา นิตยสารจำนวนมาก เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดปิดตัวลง บางเล่มเปลี่ยนเป็นนิตยสารออนไลน์
อินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ใหม่ในรูปแบบของข้อเขียนออนไลน์ ที่ผู้เขียนสามารถเผยแพร่ผลงาน โดยไม่ต้องฝ่ายกระบวนการคัดสรรของบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ส่งผลให้นักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้นได้มากมาย รวมทั้งการนำเสนอสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบตัวอักษร ภาพและเสียง ในขณะที่ผู้อ่านก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอ่าน หรือจ่ายเงินน้อยลง และมีผลงานหลายประเภทให้เลือกอ่านมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลงานจำนวนมาก แต่ยังมีประเด็นเรื่องของคุณภาพและปัญหาขโมยหรือลอกเลียนแบบผลงานผู้อื่น
งานเขียนออนไลน์หลายเรื่องมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เช่น เอดส์ ไดอารี่ของแก้ว และ บันทึกของตุ๊ด ที่ต่อมากลายเป็นละครทีวีและภาพยนตร์ เช่นเดียวกับนิยายออนไลน์หลายเรื่อง ในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ออนไลน์ช่วยเพิ่มพื้นที่ให้กับเรื่องราวของคนชายขอบ (marginal group) เช่น กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ชนกลุ่มน้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ ในการนำเสนอตัวตน สร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันของคนที่มีความหลากหลายและแตกต่าง
เบสเซลเลอร์
นับจากปลายทศวรรษที่ 1990 หลังจากวิกฤตในชีวิตนำพาสู่การปฏิบัติธรรม คุณหญิงจำนงศรีมีผลงานเขียนหลากหลายรูปแบบ ทั้ง บทกวี ความเรียง นิทาน บทความ เรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนหลักพุทธปรัชญา ที่ตอบโจทย์ชีวิตในโลกยุคใหม่ ส่งผลให้หลายเล่มเป็นหนังสือขายดี และทุกเล่มล้วนแล้วแต่ได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง
เริ่มจากบันทึกประสบการณ์ ใคร่ครวญธรรมในช่วงเวลา 3 เดือนที่สวนโมกข์พลาราม ที่ ตรัสวิน
จิตติเดซารักษ์ จากสำนักพิมพ์ตัวไหม นำไปจัดพิมพ์ โดยตัดตอนเป็นบทๆ รวม 40 บท คุณหญิงให้ชื่อหนังสือว่า ‘ฝนตกยังต้องฟ้าร้องถึง’ คุณค่าของหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์การปฏิบัติธรรม ด้วยมุมมองที่คมชัด ผู้อ่านสามารถเข้าใจ และร่วมใคร่ครวญตามได้โดยง่าย ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้ได้การพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง นับจากการตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2535
คุณหญิงเซ็นชื่อให้ผู้ซื้อหนังสือวิชาตัวเบาฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2547
เมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ ‘วิชาตัวเบา’ หนังสือเล่มใหม่ของคุณหญิงจำนงศรีติดอันดับเบสเซลเลอร์เป็นเวลานาน และได้รับการพิมพ์ซ้ำมากถึง 13 ครั้ง หนังสือเล่มนี้เขียนจากประสบการณ์ของคุณหญิงเอง ว่าด้วยเคล็ดวิชาเพื่อการดำรงชีวิตอย่าง ‘เป็นสุข’ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ที่ความสุขทางใจสวนทางกับความก้าวหน้าทางวัตถุ ซึ่งต่อมามีหนังสือในชุดเดียวกันอีก 2 เล่มคือ ‘เข็นครกลงเขา’ และ ‘เข็นครกตัวเบา’ ที่คุณหญิงเขียนนำไว้ว่า
“เข็นครกตัวเบา ก็เป็นการรวมเล่มของงานเก่าๆ กับงานใหม่นิดหน่อย คือจริงๆ แล้ว เขียนเป็นการเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเล่ามากกว่า มาเล่าโดยมีมุมวิเคราะห์ มุมอารมณ์ขัน มุมมอง คิดขึ้นมาได้ จากประสบการณ์นี้เราคิดอะไรขึ้นมา เหมือนกับมาแชร์กับคนอ่านมากกว่านะคะ ไม่ได้คิดจะสอนใคร”
วิชาตัวเบา ไม่ใช่หนังสือขายดีเล่มแรกของคุณหญิงก่อนหน้านี้ ดุจนาวากลางมหาสมุทร หนังสือบอกเล่า เรื่องราวของตระกูลหวั่งหลี ที่เริ่มต้นตั้งแต่บรรพบุรุษในเมืองจีนและการเดินทางล่องนาวามาเมืองไทย สะท้อนถึงชีวิตจริงที่พลิกผัน การต่อสู้ ความสำเร็จ ความผิดหวัง และความรัก
งานเปิดตัวหนังสือดุจนาวากลางมหาสมุทร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9
"ชื่อหนังสือมาจากการลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ค้นพบเกี่ยวกับบรรพบุรุษ ทำให้รู้สึกแจ่มชัดว่าชีวิตดำเนินไปในวิถีของเวลา เหมือนเกลียวคลื่นที่เกิดขึ้นแล้วหายไป ไม่เหลือให้จับต้องได้อีก จากนั้นจึงมองชีวิตเลยไปเหมือนเรือสำเภาที่บรรพบุรุษหวั่งหลีใช้เดินสมุทรและพบกับพายุบ้างในบางคราว” คุณหญิงเล่าถึงชื่อหนังสือ ดุจนาวากลางมหาสมุทร ก็ติดอันดับเบสเซลเลอร์เช่นกัน
คุณหญิงเล่าไว้ว่า ดุจนาวากลางสมุทรเป็นหนังสือที่ไม่เคยคิดฝันว่าจะเขียน และเขียนเสร็จเร็วที่สุดในชีวิต นักเขียน โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 4 เดือน เพื่อเป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงนายสุวิทย์ หวั่งหลี ผู้นำของตระกูล ในปี พ.ศ.2538 และมีผู้สนใจหนังสือเล่มนี้จำนวนมาก จึงได้นำลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารสยามอารยะ ช่วงปี พ.ศ. 2539 จากนั้นคุณหญิงได้ปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหา สำหรับจัดพิมพ์ เป็นเล่มในปี พ.ศ. 2541 ต่อมามีการปรับปรุงเพิ่มเติมและพิมพ์ใหม่หลายครั้ง ล่าสุด พ.ศ. 2561 มีการจัดพิมพ์ใหม่ครั้งที่ 9 เป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด
ดุจนาวากลางมหาสมุทร เป็นหนึ่งในหนังสืองานศพหลายเล่มที่คุณหญิงเป็นผู้จัดทำ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ เป็นหนังสืองานศพที่เปี่ยมคุณค่าและความหมาย ทั้งสะท้อนถึงตัวตนของเจ้าของงานและแก่นธรรมะ เกี่ยวกับชีวิตและความตาย
คุณหญิงเล่าถึงการทำหนังสืองานศพไว้ ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ Weekend ปี พ.ศ.2539 ว่า เล่มแรกที่ทำคือ หนังสืองานศพ นพ.พิพัฒน์ คุ้มเกษ ผู้ร่วมงานกับ ศ.นพ.อุทัย รัตนิน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลจักษุรัตนิน
"หนังสืองานศพเล่มแรกนี้ ดิฉันยังไม่มีประสบการณ์เท่าไรนัก เลือกเอาธรรมะจากผู้ที่หมอพิพัฒน์เคยช่วยหมออุทัยรักษาหรือผ่าตัดตา อย่างหลวงปู่แหวน, หลวงปู่ขาว, หลวงปู่คำดี, ท่านอาจารย์มหาบัว, อาจารย์คุณรัญจวน ฯลฯ มาจัดเรียงกัน แบ่งเป็น 3 ตอน ลำดับตามศีลของเจ้าของบท... ท่านเจ้าคุณ ธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ท่านกรุณาตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ‘ธัมมาภิสมัย ’"
หนังสือโศกอันเกษม
เล่มต่อมา โศกอันเกษม ซึ่งทำออกมาแล้วได้รับคำชมและมีผู้สนใจถามหามาก เป็นหนังสืองานศพ คุณบัญชา ล่ำซำ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของคุณหญิงที่สนิทสนมและช่วยเหลือกันมาตลอด
“พี่จ้อย (คุณหญิงสำอางวรรณ ภรรยาคุณบัญชา) บอกให้ช่วยทำหนังสือนี้ ดิฉันเต็มใจมาก คิดว่าจะเอาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด ความพลัดพรากและความตาย มาจัดรวมกับพระพุทธพจน์และพระธรรมเทศนาในเรื่องเดียวกัน มาเรียงลำดับสลับก่อนหลังให้ผู้อ่านเกิดทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด ที่ลึกลงไปตามลำดับมีเจตนาให้ผู้อ่านเห็นความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากความตายก่อน จนในที่สุดให้ผู้อ่านเห็นว่ามนุษย์เรามีสติปัญญาที่จะอยู่เหนือทุกข์ อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือว่า ‘โศกอันเกษม’" เล่มนี้มี ดร.สุจิตรา จงสถิตวัฒนา ผู้ช่ำชองเกี่ยวกับวรรณกรรมมาช่วย
จากนั้นเป็นหนังสืองานศพ ศ.นพ.อุทัย รัตนิน ชื่อ นัยน์กาย-นัยน์ใจ ที่นอกจากประกอบด้วยประวัติของนพ.อุทัย จากหลากหลายมุมมองของผู้ใกล้ชิดแล้ว ยังมีส่วนของ นัยน์กาย ที่ว่าด้วยดวงตาและโรคตา กับส่วนของ นัยน์ใจ เป็นเรื่องราวของการเห็นด้วยใจทั้งในมุมของธรรมะและวรรณกรรม
ล่าสุด น้ำใสสะอาดที่นิ่งอยู่ในขัน หนังสืองานศพของ คุณไพโรจน์ ล่ำซำ พี่ชายคนโตของคุณหญิง ที่เล่าลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของคุณไพโรจน์ เปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลก
คุณหญิงจำนงศรีย้ำว่า หนังสืองานศพนั้นไม่ได้ทำเพื่อขาย แต่ทำสุดความสามารถ จากจิตใจที่ผูกพันรักใคร่ ปรารถนาที่จะตอบแทนบุญคุณผู้ตาย และเป็นหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อเป็นธรรมทานและวิทยาทาน จึงเป็นสิ่งที่ทำด้วยใจอันเป็นกุศล
และเช่นกัน ‘เบสเซลเลอร์’ ของคุณหญิง ไม่ได้มาจากความตั้งใจของการเขียนเพื่อชื่อเสียงหรือเพื่อให้เป็น หนังสือขายดี แต่มาจากความปรารถนาที่จะนำเอาประสบการณ์ที่พบเห็นในชีวิต และมุมมองพุทธธรรม มาแบ่งปัน เพื่อให้ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านสามารถใช้ชีวิตอย่าง ‘เป็นสุข’ ไปด้วยกัน
อยู่กับตัวเอง
หลังจาก ศ.นพ.อุทัย รัตนิน เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2535 คุณหญิงต้องเข้ามารับหน้าที่บริหารโรงพยาบาล จักษุรัตนิน ซึ่งประสบปัญหาคนไข้ลดลง จนกระทั่งสามารถก้าวผ่านวิกฤตและเติบโตก้าวหน้าอย่างมั่นคง จนทุกวันนี้ โดยที่ครอบครัวของคุณหญิงร่วมกันบริหารมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงยังคงแบ่งปันเวลาให้กับงานเขียน และงานใหม่ๆ ทั้งที่น่าสนใจ ท้าทาย และเป็นประโยชน์ต่อสังคม หนึ่งในนั้นคือ การเขียนบทสารคดีเกี่ยวกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของเกาหลีเหนือ
"ตอนนั้นบริษัทที่ น้ำผึ้ง (วรัดดา รัตนิน) ดำเนินงาน เกิดไปได้งานจาก UNDP ให้ทำสารคดี จำได้ว่าตั้งชื่อว่า Golden Gate to North Asia อะไรทำนองนั้น เดินทางไปด้วยกันทั้งหมด 4 คน ดิฉันหัวหน้าทีมนุ่งผ้านุ่งแบบไทยไปนะ เข้าห้องน้ำง่ายดี สมัยนั้นไปยากมาก ต้องบินไปค้างปักกิ่งคืนหนึ่ง แล้วต่อไปเปียงยาง จากเปียงยางนั่งรถไฟรมควันบุหรี่อีก 23 ชั่วโมงไป Rajin-Sonbong เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Rason แล้ว ทหารเต็มรถเลย เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่สัดส่วนประชากรที่เป็นทหารสูงที่สุดในโลก
มีล่ามของรัฐบาลเขาคุมเราตลอด ห้ามเราลงตามสถานีเด็ดขาด อยู่บนรถไฟตลอด รัฐบาลจัดปิ่นโตไปให้"
บริษัทที่คุณน้ำผึ้งดำเนินงานคือ L.Wave Company Ltd. เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ผลิตรายการและวิดิทัศน์ให้กับทีวีสาธารณะ ส่วน United Nations Development Program (UNDP) ต้องการทำสารคดีส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแม่น้ำ Tumen (Tumen River Economic Development Area :TREDA) บริเวณจุดเชื่อมระหว่างรัสเซีย จีนและเกาหลีเหนือ มีประเด็นหลักอยู่ที่เขตเศรษฐกิจเสรี (Free Economic Zone) Rajin-Songbong ของเกาหลีเหนือ อันเป็นจุดบรรจบของชายแดน 3 ประเทศ
แผนที่เกาหลีเหนือ Rason อยู่ด้านบน
CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1467601
“เรามีเวลารวม 3 คืนที่นั่น เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือเอา master plan ให้ศึกษา ที่ Rajin-Songbong ตอนนั้นไม่มีอะไรเลยจริงๆ มีแต่ภูเขากับทะเลแล้วก็ทะเลสาบใหญ่ สวยมากนะธรรมชาติบริสุทธิ์ ปูตัวใหญ่ยักษ์เหลือเชื่อ แล้วก็ยังปลาแซลมอนในแม่น้ำ สาหร่ายทะเลที่เรากินกันตามร้านอาหารญี่ปุ่นลอยเต็มเชียว เก็บกินได้แต่ต้องเลือกที่อ่อนๆ
Rason ในปัจจุบัน มีทั้งโรงแรมและคาสิโน
By ASDFGHJ (talk) - All CC/PD sources: CC BY-SA 2.0,
"เป็นพื้นที่ที่บริสุทธิ์และสวยงาม ในจุดที่น้อยคนจะได้ไปพบเห็น ของประเทศที่ปิดตัวเองจากโลกสากลที่สุดในโลก เป็นงานยากลำบากที่ให้ความรู้ ความตื่นเต้นมาก ได้มาทำเอาเมื่ออายุ 50 กลางๆ เข้าไปแล้วยอมรับว่าทำให้หายแก่ไปเยอะ” สารคดีเรื่องนี้ ได้รับการแปลเป็น 6 ภาษาสำหรับเผยแพร่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก "ต้องบอกว่าโครงการเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีลุ่มแม่น้ำ Tumen นี้ จนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นตามที่วาดหวังไว้ ถึงแม้ Rason จะมีโรงแรมกาสิโนที่คนจีนเข้ามาใช้เป็นส่วนใหญ่"
ผลงานสร้างสรรค์อีกชิ้นสำคัญของคุณหญิง ซึ่งรับหน้าที่ที่ปรึกษาของสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก (Foundation for Children (FFC) Publishing House ) คือ การสร้างโลกศิลปะ ให้เด็กๆ ทั่วประเทศได้มีโอกาสชื่นชมผลงานศิลปะของศิลปินชั้นนำของประเทศ ผ่านหนังสือและสมุดบันทึก เริ่มต้นจากการนำนิทานกวีเรื่อง The Wind Crab 2537 ที่คุณหญิงเขียนไว้ในชุดรวมบทกวี On The White Empty Page มาทำเป็นนิทานสองภาษาในชื่อ ฉันคือปูลม พร้อมภาพประกอบ โดย ไทวิจิตร พึ่งเกษมสมบูรณ์
ตามมาด้วยสมุดบันทึกนิทาน The Sunray and the Grey Stone ภาพประกอบโดย นิติ วัฒยา เมล็ดกล้าในดินกร้าว ภาพประกอบโดย เทพศิริ สุขโสภา และ นิทาน เจ้าแสดแปดขา (Orange Eight Legs) ที่ใช้ภาพประกอบจากผ้าทอ โดย สมรรค คุ้มสวรรณ ศิลปินผ้าทอลายมัดหมี่
นิทานของคุณหญิงทุกเล่มเป็นเรื่องเล่าที่เขียนอย่างประณีต ด้วยความตั้งใจให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับการใช้ภาษาที่งดงาม และแก่นเรื่องวางอยู่บนหลักพุทธธรรม ทั้งหมดจึงเป็นหนังสือที่อ่านได้ทุกวัย
"สำหรับหนังสือเด็กของเด็กของดิฉัน เช่น ฉันคือปูลม เมล็ดกล้าในดินร้าว และก็อื่นๆ นั่นไม่ได้เขียนโดยตั้งใจเพื่อให้เด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะดิฉันจะเริ่มเขียนเพื่อตัวเอง เพื่อได้สื่อสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา ก็เลยได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราใช้ความเป็นมนุษย์ในตัวของเราเองอย่างจริงใจที่สุด จะพบว่ามีส่วนของเด็กและมีส่วนของผู้ใหญ่ผสมกันอยู่อย่างแยกไม่ออก
“เจ้าแสดแปดขา ก็ไม่ได้เขียนสำหรับให้เด็กอ่าน และคงเป็นหนังสือที่อ่านยากเกินไป สำหรับเด็กเล็ก คิดว่าถ้าเผื่อพ่อแม่เอาเนื้อความไปเล่าให้เด็กฟังจะดีกว่า ได้อรรถรสความเป็นครอบครัว" ส่วนเหตุที่ภาพประกอบเป็นผ้าทอลายมัดหมี่ มาจากความชื่นชอบความงดงามของผ้าทอไทย "ชอบความคิดที่ใส่ลงไปในฝีมือ เพราะเห็นงานทอผ้าเป็นทัศนศิลป์สร้างสรรค์ด้วยจินตนาการ อยากให้คนทั่วไปมองผ้าไม่ใช่เป็นเพียงของใช้หรือของนุ่ง แต่สามารถจะเล่านิทานได้ด้วย” ภาพประกอบนิทานจากผ้าทอยังสอดคล้องกับตัวเอกของเรื่องที่เป็นแมงมุมผู้มุ่งมั่นกับการถักทอใย
เจ้าแสดแปดขา ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือสวยงามสำหรับเด็กเล็ก 6-11 ปี และรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กเล็ก 6-11 ปี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2543
ต่อมาได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในหนังสือ 15 เล่ม ที่ จัดพิมพ์ในโครงการวรรณกรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันใจ เยาวชน เนื่องในวาระเฉลิมฉลองครบ 100 ปี ชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 และในวาระนี้คุณหญิงได้เขียนนิทานใหม่อีกหนึ่งเรื่อง คือ กระต่ายต๊องหาโพรง ใช้นามปากกา น้ำสาน ภาพประกอบโดย นันทวัน วาดะ แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย ศรวณีย์ สุขุมวาท
นิทานเล่มล่าสุดของคุณหญิง ตุ๊กแกกั๊บแจกลาย ตีพิมพ์ในปี 2552 ได้แรงบันดาลใจมาจากความใจดีของหลานที่แจกสติ๊กเกอร์เด็กดีให้กับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้สติ๊กเกอร์จากคุณครู ภาพประกอบโดย ณัฐวรรณ ตั้งสัจจะพจน์
ตุ๊กแกกั๊บแจกลาย ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี ของ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2553
ด้วยตั้งแต่เยาว์วัยคุณหญิงเติบโตมาในสวนส้มโอริมน้ำและชายทะเลหัวหิน เมื่อไปเรียนที่อังกฤษ ก็อยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ “ดิฉันรักป่าคงเพราะเคยอยู่โรงเรียนประจำซึ่งอยู่กลางป่าที่สวยมาก (The New Forest) ทางใต้ของอังกฤษ ชอบแสง เงา กลิ่น แล้วก็เสียงนก เสียงแมลง เสียงลม เสียงน้ำ เสียงใบไม้ เอามาใส่ไว้นิทานอย่าง 'ฉันคือปูลม' 'เจ้าแสดแปดขา' และ 'ตุ๊กแกกั๊บ' อยากให้เด็กๆ รับรู้ความงามของธรรมชาติและซึมซับธรรมะไปด้วย”
ทั้งนี้คุณหญิงเชื่อว่า การสร้างสังคมที่แข็งแกร่งต้องเริ่มต้นที่เด็ก งานเกี่ยวกับการสร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กของคุณหญิง นอกจากหนังสือยังมีงานในรูปแบบองค์การพัฒนาเอกชน ทำงานช่วยเหลือเยาวชนหญิงในภาคเหนือ ในนาม มูลนิธิเรือนร่มเย็น (Harbour House Foundation) จังหวัดเชียงราย ที่มีจุดประสงค์ช่วยเหลือเด็กหญิงเพิ่งจบการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษา กลุ่มเสี่ยงที่จะถูกชักนำให้ไปค้าประเวณี หรือค้ายาเสพติด โดยทางมูลนิธิให้ที่พักพิงและให้การศึกษา เสริมทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ
“ถ้าเด็กเหล่านี้มาอยู่กับเรา ให้การอบรมจนจบมัธยมปีที่ 3 ดูแลพัฒนาการทางอารมณ์ ให้เขาเติบโตอย่างมั่นคงทางจิตใจและทำในสิ่งที่ถูกที่ควร นับเป็นการสร้างคน สร้างครอบครัว และสังคมที่แข็งแกร่ง ซึ่งต้องเริ่มจาก ‘เด็ก’” และเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของมูลนิธิเรือนร่มเย็น คุณหญิงก่อตั้ง บริษัท ร่มเรือน (Shelter Co, Ltd.) ทำธุรกิจจัดประชุม ผลิตสิ่งพิมพ์ อาทิ ปฏิทิน ไดอารี สิ่งพิมพ์ชำร่วยงานแต่งงาน เพื่อนำรายได้มาใช้ในการทำงานของมูลนิธิ (ต่อมาในปี พ.ศ.2552 มูลนิธิเรือนร่มเย็นโอนทรัพย์สินให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิต่อไป)
คุณหญิงและครอบครัว ในปี พ.ศ. 2540 ภาพจากนิตยสารแพรว
ปลายทศวรรษ 1990 คุณหญิงอยู่ในวัย 50 เศษๆ “เป็นช่วงที่อยู่กับตัวเองเป็น คืออยู่อย่าง ‘เป็นสุข’ ไม่โหยหาอะไร ไม่เหงา ไม่กลัว เป็นผลจากการไปอยู่คนเดียวในกุฏิริมป่าที่สวนโมกข์และไปอยู่วัดฝึกทางด้านจิตใจมามาก การอยู่คนเดียวจึงเป็นเรื่องปกติ ลูกๆ รู้ดีว่านานๆ ครั้ง แม่จะขอหนีไปอยู่คนเดียวสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ขอไม่เจอใครสักพักสบายดีค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเหงาไหม รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่เหงา ที่จริงก่อนหน้าเข้าวัด เป็นคนเหงาเก่งมาก แต่เดี๋ยวนี้เหงาไม่เป็น”
ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลจักษุรัตนินเติบโตด้วยดี ขยายเพิ่มในส่วนของบริษัทRutnin-Gimbel Excimer Laser Eye Center โดยมีลูกๆ และครอบครัวเข้ามาช่วยดูแล
คุณหญิงและลูกสาวทั้ง 3 จากซ้ายไปขวา คุณน้ำหวาน คุณหญิง คุณน้ำผึ้งและคุณน้ำอ้อย
จากในระยะแรกที่โรงพยาบาลจักษุรัตนินประสบปัญหายอดคนไข้ตก เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่ติดคุณหมออุทัย คุณหญิงต้องพยายามผลักดันคุณหมอท่านอื่นๆ ให้ขึ้นมาโดดเด่น และดึงจักษุแพทย์เก่งๆ เข้ามาเสริมช่วงนั้นคุณน้ำหวาน (อโนมา ลูกคนที่สาม) เข้ามาเป็นหลักในการช่วยบริหารงาน เพราะบุตรชายคนโตจักษุแพทย์สรรพัฒน์ รัตนิน (ไต๋) ยังเรียนต่ออยู่ที่แคนาดา "ตอนนั้นเราเพิ่งนำเข้าเครื่องผ่าตัดสายตา 'กิมเบล' คนนี้ (คุณน้ำหวาน) เอาจนรอด"
คุณหญิงกับลูกชาย นพ.สรรพัฒน์ และคุณน้ำอ้อย
ต่อมา นพ.สรรพัฒน์ กลับมาสานต่องานโรงพยาบาล คุณหญิงได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารแพรวในเวลานั้นไว้ว่า เป็นช่วงชีวิตที่ไม่มีอะไรต้องกังวล "ไต๋เป็นจักษุแพทย์เหมือนพ่อ ผึ้งอยู่บริษัทแอล – เวฟเป็นบริษัทโปรดักชั่นในเครือล็อกซ์เล่ย์ อ้อยเป็นโปรเจ็คท์โคออร์ดิเนเตอร์อยู่ล็อกซ์เล่ย์ เต้ย(คุณจตุพรที่คุณหญิงเลี้ยงเหมือนลูก) เป็นช่างภาพและมีธุรกิจเป็นของตัวเอง"
ส่วนด้านชีวิตครอบครัว คุณน้ำผึ้งลูกสาวคนโตแต่งงานและมีลูกชายลูกสาว ส่วนลูกๆ อีก 3 คน ก็ทยอยแยกย้ายจากบ้านไป มีครอบครัว คุณน้ำหวานมีลูกชายหนึ่งคน “ลูกๆ เป็นเหมือนเพื่อน มีความสัมพันธ์ที่อบอุ่น โต้เถียงและสนุกสนาน เราคุยกันได้ทุกเรื่อง ส่วนเขยสะใภ้ก็ดีมาก”
“ดิฉันมีความสุขมากในการที่อยู่คนเดียว ไม่คิดว่าชีวิตม่ายจะเป็นชีวิตที่มีความสุขมาก เพราะฉะนั้น การจะต้องเป็นม่ายไปจนตาย เป็นสิ่งที่ดิฉันไม่รังเกียจเลยที่จะเป็น และไม่เคยคิดฝันเลยที่จะแต่งงานใหม่”
แต่ดังคำพูดที่ว่า ชีวิตมีเรื่องให้เราแปลกใจได้เสมอ ในระหว่างที่พยายามหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้มูลนิธิเรือนร่มเย็นรับดูแลเด็กได้จำนวนมากขึ้น และทำงานได้อย่างยั่งยืน คุณหญิงได้พบกับคู่ชีวิตใหม่
รักออนไลน์
หลังใช้ชีวิต โสด สงบ สนุก และเป็นสุข กับเรื่องราวน่าสนใจและท้าทายที่เข้ามามากมายราว 5 ปี คุณหญิงได้พบกับ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ นักกฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศด้านการพัฒนาสังคม และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายองค์กร รวมทั้งเป็นรองประธานกรรมการฝ่ายต่างประเทศ บริษัทล็อกซเลย์
“คุณธงชัย (ธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัทล็อกซเลย์ น้องชายคุณหญิงจำนงศรี) ทำให้เรารู้จักกัน เพราะรู้ว่าผมเป็นประธานอนุกรรมการแผนงาน มูลนิธิวิเทศพัฒนา ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเอ็นจีโอ ท่านเลยเล่าให้ฟังว่า คุณหญิงเองก็ตั้งมูลนิธิเรือนร่มเย็น ซึ่งเป็นมูลนิธิที่คอยให้ความช่วยเหลือเด็กผู้หญิงอายุสิบสองถึงสิบหกปี ขึ้นมาเหมือนกัน และจะช่วยอะไรได้บ้างไหม ” ดร.ชิงชัยเล่าไว้ในนิตยสารแพรว ปี พ.ศ.2540
“ผมเลยโทรศัพท์ไปถึงคุณหญิง หลังจากพบกันสองสามครั้ง ก็ขึ้นไปเยี่ยมมูลนิธิเรือนร่มเย็น ที่เชียงรายระหว่างอยู่ที่นั่น เรามีเรื่องถกกันหลายเรื่อง ผมประทับใจในตัวคุณหญิงมาตั้งแต่ตอนนั้น”
ในเวลานั้นคุณหญิงอายุ 57 ปี ส่วน ดร.ชิงชัย หรือ เจเจ ตามชื่อภาษาอังกฤษ Jingjai (ที่คุณหญิงเรียกและมีความเห็นว่าเหมาะกับบุคลิกของอาจารย์ชิงชัยมากกว่าชื่อภาษาไทย) อายุ 55 ปี อยู่ในช่วงใช้ชีวิตโสดตามลำพัง หลังภรรยา(คุณสุดา)เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดและไม่มีบุตรด้วยกัน
คุณหญิงเล่าถึงความรักครั้งใหม่ที่บ่มเพาะขึ้นออนไลน์ ไว้ในนิตยสาร Hello และสื่ออื่นๆ ในหลายวาระ ด้วยเรื่องราวของคุณหญิงและดร.ชิงชัยเป็นที่สนใจของสังคมในเวลานั้น อีกทั้งยังมีประเด็นของความรักออนไลน์ที่ล้ำยุคในสมัยเริ่มต้นของโลกดิจิตอล คล้ายกับเรื่อง Yoy've Got Mail ภาพยนตร์ดังปี 1989 ที่ตัวเอกทำความรู้จักกันและสานสัมพันธ์ทางไกลผ่านอีเมล
“เขาเป็นองค์การให้ทุน ดิฉันอยู่ฝ่ายรับทุน เขาต้องขึ้นไปดูโครงการเราที่เชียงราย ไปค้างคืน แล้วก็มาแวะเชียงใหม่ เขาตามมาร่วมงานทำบุญลงเสาเข็มบ้านน้ำสาน(บ้านของคุณหญิงที่เชียงใหม่)
“จากนั้นได้เดินทางไปยุโรปตะวันออกกับหอการค้าฯ เจเจ เป็นกรรมการหอฯ พี่ชายดิฉัน (โพธิพงษ์ ล่ำซำ) เป็นประธานหอฯ ตอนนั้น ก็สนิทกันขึ้นไปอีก ที่ยุโรปตะวันออก พี่ชายดิฉันไม่สังเกตอะไรเลย พี่สะใภ้ดูจะสงสัยนิดๆ จากนั้นก็เดทกันมาตลอด อี-เมล คุยกันทุกวัน เป็นภาษาอังกฤษ เพราะเจเจพิมพ์ภาษาไทยไม่เป็น แต่พูดกันเป็นภาษาไทยนะ แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้โทรศัพท์
“คบกันสนุกมาก ไม่หวานเจื้อยเหมือนหนุ่มสาวหรอก เรามีเรื่องให้เถียงถกสารพัน ได้ความรู้เยอะ ความคิดแตกแขนง เรื่องเป็นงานการเป็นความคิดเห็นนี่เราจะคุยกันด้วยวาจา แต่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกใช้อี-เมล์ เพราะการเขียนทำให้มีเวลาคิด มีเวลาลงลึก เขียนถึงกันทีละยาวๆ”
ทั้งนี้คุณหญิงให้ความเห็นว่า การสื่อสารด้วยการเขียนมีข้อได้เปรียบ “คนเราสื่อสารกันมี 2 ระดับ ระดับหนึ่งคือพูดกัน เห็นหน้าท่าทาง เห็นปฏิกิริยาตอบโต้ ที่ไม่ได้กลั่นกรอง ทำให้เกลียดขี้หน้ากันได้ง่ายๆ ถ้าไม่ระวัง
“อีกระดับเป็นเขียน สมัยนี้อีเมล เดิมจดหมายต้องรอส่งรอรับเป็นวันๆ อีเมลนี่ส่งถึงกันในหนึ่งนาที ถ้าทั้งสองฝ่ายนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในเวลาเดียวกัน ก็โต้ตอบกันได้เลย การเขียนนี่ จะเขียนเมื่อมีความรู้สึกอยากเขียน คนอ่านก็จะอ่านเมื่อมีอารมณ์อยากอ่าน ถ้าจริงใจ ก็จะสื่อความคิดได้ชัดเจน จะละเอียดลุ่มลึกกว่าพูด บางอย่างพูดลำบากแต่เขียนได้ อันนี้เห็นได้ชัดเจนในหนัง You've Got Mail"
คุณหญิงมีความเห็นว่า การเขียนมีภาษาที่เราไม่ใช้ปกติในภาษาพูด และมีเวลาหาคำให้ตรงกับความคิด มากกว่า จึงได้เนื้อความที่ตรงกว่า สะอาดกว่า “อาจารย์ชิงชัย เวลาเขียน อี-เมล์สื่อความคิดได้ดีมาก” แต่ทั้งนี้ขึ้นกับตัวบุคคลและเป้าหมายอีกด้วย “เหมือนดาบสองคม ถ้าคุณเขียนเพื่อหลอกอีกฝ่ายหนึ่ง คุณก็หลอกคนอื่นได้ ซึ่งถ้าเขียนแบบโกหก ถือว่าเลวมาก ชัดเจนเลยว่า คุณตั้งใจหลายขั้นที่พูดมุสา ผ่านการกลั่นกรองเจตนาหลายครั้ง เพราะการพูดคุยเจตนาไม่ลึกเหมือนการเขียน"
หลังจากรู้จักกันประมาณ 6 เดือน “จนในที่สุดเราก็ชักจะเมื่อยมือ (หัวเราะ) ประกอบกับมีคนสอดแนม มาบอกว่าเขารู้สึกยังไง รู้เขาไม่กล้า ก็เราเป็นพี่สาวธงชัย ก็เลยอี-เมล์เว้าไปซื่อ ๆ ว่า “Do you think we should get married?” ได้คำตอบกลับมาแบบโล่งอกว่า “Yes, we should!” เป็นอันว่าลงตัว
“อันที่จริงก็ไม่ได้กล้าหาญชาญชัยมั่นอกมั่นใจไปหมดหรอกค่ะ มีช่วง ‘cold feet’ ด้วยความไม่แน่ใจ ยังไปปรึกษาพี่ชายคนโต (ไพโรจน์ ล่ำซำ) ว่า เอ เราก็อายุปูนนี้แล้ว เขาจะไม่ต้องการอยู่กับผู้หญิงที่สาว หรอกหรือ พี่ชายก็ตอบ...หลังหายช็อกด้วยความประหลาดใจว่า...ก็เขาเลือกเราแล้วนี่หว่า จะห่วงอะไรอีกล่ะ เราแก่เขาก็แก่นี่นา แล้วเชียร์ต่อว่า ชิงชัยเป็นคนเก่งมาก แล้วก็นิสัยดีมากๆ ถ้าไม่ได้แต่งก็โง่เต็มที”
คำพูดของพี่ชายช่วยยืนยันความมั่นใจของคุณหญิง ที่เชื่อว่าสามารถดูคนออกโดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต คือดู ‘ข้างใน’ไม่เพียงดูภายนอก ส่วนดูอย่างไรนั้น คุณหญิงตอบไว้ว่า
“เอ ไม่รู้สิ แต่ที่รู้คือ เจเจ ที่เราอยู่ด้วยทุกวันนี้เป็นคนๆ เดียวกับที่เรารู้จักเมื่อแรกคบกัน ก็แสดงว่าดูไม่ผิดใช่ไหม เรื่องดูข้างในนี่ ไม่รู้จะตอบยังไง ส่วนหนึ่งก็อาจจะดูที่การกระทำกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับคนที่ด้อยกว่าทางสติปัญญา ทางฐานะ ทางสังคมมั้ง ดูท่าทาง ดูแววตาเวลาเขาไม่รู้ตัว ความเมตตา ความหวังดีกับคนอื่น นี่สำคัญมาก มันบ่งคุณภาพใจ ดูซิว่าเขาให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ไหม แต่ดูอะไรๆ ก็ไม่ชัดเท่าความรู้สึก เราผ่านชีวิตมาเยอะ เห็นคนมามาก มีครอบครัวมาก่อนของเรา 30 ปี ของเขา 25 ปี”
ส่วนที่ถามไปเรื่องแต่งงาน "ถ้าหากว่าเขาบอกว่า“อย่าเลย” ก็ So what? อีกแหละ ก็ไม่เห็นเป็นไร ก็คงฉิวนิดหน่อย" แต่แน่นอนว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่แรกพบ ดร.ชิงชัย เล่าถึงความประทับใจต่อ 'คุณศรี' ว่า เธอสวย มีเสน่ห์ และดูอ่อนกว่าวัยมาก และเมื่อมีโอกาสได้รู้จักกันมากขึ้น ยิ่งเพิ่มพูนความรู้สึกที่ดี ดังที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารแพรว ว่า
“ประทับใจมากก็เพราะไม่เคยเจอผู้หญิงที่เก่งรอบตัวอย่างนี้ ถึงแม้ผมจะเจอผู้คนมามาก เพราะทำงานต่างประเทศนาน ต้องเดินทางบ่อยทำให้ได้พบผู้หญิงเก่งๆ หลายคน แต่คุณหญิงเป็นผู้หญิง
แบบที่ทำให้ผมอยากคุยด้วย อยู่ใกล้ๆ แล้วสบายใจ เรามีอารมณ์ขันคล้ายกัน คุยกัน เถียงกัน หัวเราะกันได้ทุกเรื่อง”
“นอกจากนี้เรายังเป็นม่ายเหมือนกัน พอได้มาพบ รู้สึกถูกชะตากับคุณหญิงมาก จนบอกตัวเองว่าต้องไม่พลาดโอกาส น่าเสียดายที่มาเจอกันช้าไปหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่เจอเลย”
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ "คิดว่าคงจะอยู่คนเดียวได้ โดยใช้การทำงานเป็นหลัก เพราะงานผมมีเยอะเหลือเกิน และอีกอย่างฐานะผมก็พอไปได้ มีบ้านอยู่เลี้ยงสุนัขร็อดไวเลอร์ไว้เป็นเพื่อน คิดว่าคงอยู่เป็นโสดได้สบายๆ ไม่เดือดร้อน จึงไม่รู้สึกว่าต้องการใครอีกนะครับ”
“ผมกับคุณหญิงมาพบมาคบกันในช่วงเวลาที่เรียกว่า วัยไพรม์ (PRIME) แล้ว จุดนี้อาจจะได้เปรียบคนอื่นตรงที่เราเคยผ่านชีวิตมามาก เคยผ่านชีวิตคู่มาแล้ว ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราขาดไป ในชีวิตที่ผ่านมา และอะไรที่เราอยากมีในช่วงที่เวลาอาจจะเหลือน้อยแล้ว ดังนั้นเราจึงรักเพื่อให้ต่างฝ่ายมีความสุข และมีความสุขซึ่งกันและกัน"
ในเรื่องการแต่งงาน คุณหญิงเล่าว่า “ดิฉันเคยมั่นใจมากว่าจะอยู่คนเดียวไปตลอด (หัวเราะ) แต่อาจารย์ก็มั่นใจมากว่าเราควรจะใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยกัน แล้วก็ค่อยๆ ทำให้ดิฉันเชื่อว่าจะอยู่ด้วยกันได้ดี เราเห็นร่วมกันว่าชีวิตเราเหลือไม่มากนัก ถ้าต่างคนต่างอยากให้อีกคนมีความสุข คงปรับตัวเข้าหากันไม่ยากจนเกินไป”
ดังนั้นกำหนดการแต่งงานมีขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2540 แต่ก่อนจะถึงวันนั้นยังมีด่านที่คู่รักสูงวัยต้องก้าวข้าม
การแต่งงานของคุณยาย
เนื่องจากคุณยายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคุณยายไทย ไม่ค่อยมีใครแต่งงานใหม่ เมื่อคุณหญิงซึ่งในเวลานั้นอยู่ในวัย 50 ปลาย มีหลานยาย 3 คน ตัดสินใจแต่งงาน จึงต้องเผชิญกับคำถามมากมาย และคุณหญิงได้เล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ไว้ในหลายบทสัมภาษณ์
“หลังจากที่เราโอเคกันทางอีเมลแล้ว เราก็ถึงบอกลูก...ลูกๆ ตกใจกันเป็นกำลัง ค่อนข้างจะไม่เห็นด้วย มีลูกคนเล็ก( คุณน้ำอ้อย-จิตรจารี ปีตธวัชชัย) ที่เคยเป็นลูกน้องเขาที่ล็อกซเลย์ บอกว่าถ้าจะเป็นใคร เป็น ดร.ชิงชัย คงดีที่สุด ให้เครดิต แต่ก็ไม่เห็นด้วยนะคะ ยังจำได้ว่าเขาพูดว่า 'ถ้าแม่จะแต่งงานกับใครละก็ คุณอาชิงชัยดีที่สุด แต่คิดดูก่อนไม่ดีเหรอ' ป้าก็บอกว่า 'Okay, It’s my life.'”
“มีการจัดการกันว่า เขาขอรู้จัก ดร.ชิงชัย ให้ใกล้ชิด เลยจัดไปอยู่ที่สมุยกัน เอา ดร.ชิงชัยไปด้วย ซึ่งน่าสงสารมากนะคะ ทั้งเขยทั้งสะใภ้อะไรมันก็ 8 คนแล้ว นี่ก็ไปคนเดียวให้เขาดูตัวกัน
"ขำที่ทั้งลูกๆ ทั้งเขย สะใภ้ชอบเจเจอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังไม่ค่อยจะวางใจพ่อม่ายเนื้อหอม เขาคงไม่รู้ตัวกันว่าแม่ขำจะตาย ที่เห็นพวกเขาพากันออกอาการแม่ไก่ห่วงใยลูกเจี๊ยบ ยังไงยังงั้น เราก็สนุกในบทบาทลูกเจี๊ยบนะ ก็เขาห่วงน่ะว่าแม่จะเสียชื่อ จะอกหัก จะโน่นนี่สารพัด
"ตกกลางคืนคนแก่สองคนก็ไปนอนเล่นโต้ลม ชมคลื่น อาบแสงจันทร์ที่ชายหาด เขาก็เอาหัวชนกัน...ประชุมไง...มารู้ทีหลังว่าลูกสะใภ้ที่แสนน่ารักเอามือทาบอกกระซิบว่า 'แล้วเราจะทำยังไงกันดีนี่' (หัวเราะ) ก็สนุกดีนะ เหมือนมีพ่อแม่ 4 คู่ดูแลอยู่ เจเจคงประสาทเหมือนกัน แต่ก็หัวเราะเสียงดังตลอด"
เหตุหลักๆ คือความกะทันหันของการตัดสินใจ แต่สำหรับคุณหญิงมองกลับกันว่า “แต่ละวันมันมีความหมาย ความที่เรามีอายุแล้ว มีประสบการณ์มาเยอะมาก มันดูคนออกถ้าให้พูดตรงๆ แล้วยิ่งพี่เบิ้ม (ไพโรจน์ ล่ำซำ) พูดแบบนี้ เขาเป็นประธาน พี่เบิ้มบอกว่า “ศรี ถ้าไม่แต่งก็โง่แล้ว เพราะว่ารู้ไหมในบริษัทคนพันกว่าคน ในเครือข่ายบริษัท มันจะต้องมีคนนั้นไม่ชอบคนนี้ คนนี้ไม่ชอบคนนั้น แต่ชิงชัยนี่เป็นคนเดียวที่ไม่เห็นมีใครไม่ชอบเลย ...ศรี ถ้าไม่แต่งก็โง่”
หลังได้ความเห็นชอบจากลูกๆ ทั้ง 4 ประมาณ 2-3 เดือน คุณหญิงและอาจารย์ชิงชัยก็จัดงานแต่งงานเล็กๆ แบบเรียบง่าย ใส่บาตรกับลูกๆ ที่วัดสุทัศน์ พี่ชายคุณหญิงจัดเลี้ยงเป็นการภายใน ให้ญาติๆ ได้พบเขยใหม่ จากนั้นดร.ชิงชัยซึ่งเป็นนักเรียนฝรั่งเศสพาคุณหญิงไปฟื้นความหลังที่นั่น และกลับมาจดทะเบียนสมรสที่หัวหิน“ตอนนั้นลูกสามคนโตแต่งงานกันไปหมดแล้ว เราแต่งหลังน้ำอ้อยไม่กี่เดือน เขายังหัวเราะกันว่าเป็นคู่สุดท้อง”
ดร.ชิงชัยและครอบครัวของคุณหญิง ปี 2540
เมื่อข่าวเรื่องคุณหญิงแต่งงานใหม่แพร่ผ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และสื่ออื่นๆ ก็มีเสียงสะท้อนกลับมา ที่คุณหญิงเห็นว่าน่าสนใจ ทั้งนี้ใช่ว่าคุณหญิงเองจะไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ การตัดสินใจครั้งนี้จึงเป็นเรื่อง “ยากมาก ดิฉันคิดว่าสำหรับ ดร.ชิงชัยเขาจะไม่มีความขัดแย้งมากมาย ผู้ชายได้เปรียบคือ มีเรื่องน้อยกว่า ของเรานี้จะเรื่องมาก เรื่องเยอะ ต้องคิดถึงลูก คิดหลายอย่าง แต่จริงๆ เรื่องลูกหลาน มันยังเรื่องเล็ก”
เพราะลูกชายลูกสาว 4 คน ทั้ง ไม่มีใครขัดข้อง แต่กลับมีคำถามจากคนภายนอกถามมากกว่า ตั้งแต่ข้อสงสัยที่ชวนสั่นคลอนความมั่นใจที่ว่า ดร.ชิงชัยเป็นผู้ชายที่แปลก ลูกก็ไม่มี ตำแหน่งการงานสูง แน่นอนว่าจะต้องมีผู้หญิงให้เลือกมากมาย แล้วทำไมถึงเลือกผู้หญิงที่แก่กว่าตัวเองถึง 2 ปี
"เจเจโดนหนักกว่าถูกสงสัยว่าหวังอะไรจากเรา สาวๆ กว่ามีให้เลือกตั้งมากมาย ตอนนั้นเขาขึ้นชื่อว่าเป็นพ่อม่ายเนื้อหอม เพื่อนที่เคยเห็นเขาเที่ยวเตร่ ถึงนั่งจับเข่าถามว่า“แน่ใจแล้วรึ”ด้วยความห่วงใยว่าชีวิตจะเหี่ยวๆ แล้งๆ"
ทางด้านคุณหญิงก็ถูกเคลือบแคลงตั้งแต่ข้อที่ว่า เข้าวัด เขียนหนังสือให้ข้อคิดในเชิงธรรมะ แล้วทำไมตัดสินใจแต่งงานใหม่ ไม่กลัวถูกหลอกหรือ ไปจนถึงแก่จนป่านนี้แล้วทำไมถึงอยากมีสามี แต่สำหรับคุณหญิงกลับเป็นเพราะปฏิบัติธรรม จึงสามารถตัดสินใจและรับมือกับสิ่งที่เข้ามากระทบได้อย่างมั่นคง คุณหญิงตอบคำถามเหล่านี้ไว้ในหลายสื่อว่า
“สิ่งเหล่านี้เรารู้ว่ามันมีอยู่ รู้ว่าหลายครั้งถูกมองแปลกๆ แต่หลายครั้งก็อยากชื่นชมยินดีด้วย ที่มองทางบวกก็มีมาก มองว่าเราเป็นกำลังใจให้คนอื่นๆ กล้าที่จะก้าวออกมาเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง ดิฉันว่าน่าสนใจนะ น่าศึกษาในมุมจิตวิทยาสังคมและธรรมะ ถ้าดิฉันไม่เคยไปปฏิบัติธรรม อาจจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีน้ำหนักมากเลยก็ได้ อย่างนี้รู้สึกแค่น่าสนใจ ... อาจารย์ชิงชัยก็มีความมั่นคง และปล่อยวางมากในเรื่อง
การคิดของคนอื่นที่อาจไม่เข้าใจเรา”
“คำถามทั้งหลายไม่ใช่ว่าดิฉันไม่คิด ดิฉันคิดว่ามันหนักสำหรับผู้หญิงไทย การอายคนอื่น
การกังวลกับสายตา การศึกษาปฏิบัติธรรมช่วยให้ลดน้ำหนักความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ สายตาคนและคำชม หรือคำว่าร้ายมันคืออะไร มันมีส่วนที่จะช่วยให้ชีวิตอย่างมีสติหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีประโยชน์อะไร น้ำหนักมันก็เบามาก แต่มันจะมีความหมายกับเรา ก็จะใช้มันให้เป็นประโยชน์กับชีวิตเราได้ สำคัญที่สุดคือ ปฏิกิริยาของเราว่ามีมากหรือน้อย ถ้าฝึกทักษะการมองจิตตัวเอง เราจะผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างสบาย
“ดิฉันถึงบอกว่าการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ การฝึกสติ สมาธิ การมองตนเพื่อการปล่อยวางแต่ละขั้น ย่อมช่วยในตัวเรา แทนที่เราจะมองคนอื่น ก็มองตัวเองมากกว่า แต่เรื่องการแต่งงานดิฉันยอมรับเลยว่า ชีวิตดิฉันดีขึ้น การงานก็ดีขึ้น ” อาทิ ดร.ชิงชัยมีประสบการณ์ การวิจัยเพื่อการพัฒนากว่า 20 ปี อยู่กับแหล่งเงินทุน สามารถให้มุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนามูลนิธิฯ ที่คุณหญิงดำเนินงานอยู่
หากจะเปรียบเทียบกับชีวิตที่ผ่านมา “การแต่งงานคราวนี้วุฒิภาวะเราช่วยให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างสบายๆ ครั้งแรกนั้นตั้งอกตั้งใจเป็นเมียที่ดี แม่บ้านที่ดี แม่ที่ดี และอะไรต่อมิอะไรที่ดี โอ๊ย ไม่ดีหรอก ตั้งใจเกินไป อย่างว่าแหละ ครั้งนี้รู้ตัวว่าบั้นปลายชีวิต เมตตาตัวเองมากกว่าเยอะ สบายๆ ไม่เหมือนตอนนั้นที่การสร้างอนาคต สร้างครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่”
ครอบครัวและหลานๆ
ภาพคุณหญิงกับน้องสาว (คุณทวีนุช จ่างตระกูล) ถ่ายในราวปี พ.ศ.2499 ส่วนภาพล่าง ถ่ายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 คุณหญิงเขียนเล่าไว้ว่า
“พี่น้องผู้หญิงเรามีกัน 2 คนแค่นี้ ไม่ได้ถ่ายรูปคู่กันอย่างนี้มานานหลายปี
รูปนี้ถ่ายค่ำนี้เอง ในวันเกิดครบ 88 ปี ของโพธิพงศ์ พี่ชายคนรองของเรา
ไพโรจน์ พี่ชายคนโตเสียชีวิตไปเมื่อราวๆ 4 ปีมาแล้ว
นี่เป็นรูปแรกของเราที่ถ่ายด้วยกัน หลังจากที่ก้าวเข้าช่วงวัย 8 ทศวรรษทั้งคู่……
จำนงศรี - ทวีนุช เกิดห่างกัน 1 ปี 5 เดือน (ที่ชื่อเรา 4 คน คล้องจองกัน คงจะเป็นเพราะคุณยายเราเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน) สำหรับ ไพโรจน์ โพธิพงศ์ พี่ชายทั้งสองเกิดห่างกัน 1 ปีเศษเช่นกัน เท่าที่ทราบพระสงฆ์ตั้งชื่อให้เขาทั้ง 2 คน แต่ชื่อของเราผู้หญิง นั้น คุณยายตั้งให้เสียงคล้องกันลงมาเป็นสายจากชื่อพี่ชาย
พวกเรามีโครงหน้าสองระบบ ไพโรจน์ & จำนงศรี โครงคล้ายทางแม่ โพธิพงศ์ & ทวีนุช โครงหน้าคล้ายทางพ่อ
ป้าศรียังรู้สึกผิดอยู่เลย ที่เคยแกล้งและเอาเปรียบน้องสาวที่แสนดีสมัยเยาว์วัย
มาสำนึกผิดเอาตอนแก่ชราด้วยกัน
ยังใจแป้วลึกๆ อยู่จนทุกวันนี้
เฮ้อ…”
คุณหญิงกับพี่ชายทั้งสอง จากซ้าย คุณโพธิพงศ์ และคุณไพโรจน์ ล่ำซำ
นอกจากพี่น้องท้องเดียวกันทั้งสี่ ที่เติบโตมาด้วยกันในบ้านสวนสุขจิตต์ คุณหญิงยังมีน้องชายต่างมารดาอีก 2 คน คือ คุณ ธงชัย บุตรคุณพรรณี เกษฒสุข และคุณภูมิชาย บุตรคุณอดิสัย ตันสกุล
จากซ้ายคุณธงชัย-คุณมณฑิรา ล่ำซำ ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ท่านผู้หญิงอรสา-คุณไพโรจน์ ล่ำซำ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ คุณโพธิพงศ์-คุณยุพา ล่ำซำ คุณทวีนุช จ่างตระกูล คุณภูมิชาย-คุณจุฑาภรณ์ ล่ำซำ
ส่วนลูกๆ ทั้ง 4 ของคุณหญิง ต่างมีหลานให้คุณหญิงรวม 6 คนตามลำดับในภาพ เริ่มจาก คุณน้ำผึ้งมีลูกชายและหญิง 2 คน คือ คุณไท และคุณวิภาสา(วิกิ) หลีอาภรณ์ เช่นกันกับคุณน้ำหวานที่มี คุณณัทพิชญ์(โปโป้) และ คุณณณิชา(น้ำใส) เศรษฐพรพงศ์ ส่วน นพ.สรรพัฒน์หรือคุณไต๋ มีลูกชายคนเดียวคือ คุณไตร เช่นกันกับคุณน้ำอ้อยที่มี คุณปูรณ์ ปีตธวัชชัย ลูกชายที่เกิดวันเดียวกับดร.ชิงชัย “ดิฉันโชคดีที่ลูกๆ รักกัน...แล้ว ดิฉันก็มีสามีเหมือน โดราเอมอน (หัวเราะ)”
ชื่อภาพThe Greatest Gang in the World ถ่ายเมื่อ วันที่ 25 กรกฎาคม 2005
เมื่อปี 2559 คุณหญิงเล่าไว้กับนิตยสาร Hello ว่า “มาวันนี้ไต๋ ( นพ.สรรพัฒน์ รัตนิน ลูกชายของคุณหญิง แพทย์ผู้ถวายการผ่าตัดพระเนตรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) กับเป้า (ศิริธร ลูกสะใภ้) ปรึกษางานโรงพยาบาลกับเขา(ดร.ชิงชัย)ตลอด ดิฉันก็สบายไปเลย เดี๋ยวนี้เจเจเป็นกรรมการบริหาร โรงพยาบาลไปแล้ว แล้วก็ยังเป็นประธานกรรมการศูนย์เลสิกรัตนิน-กิมเบลอีกด้วย เจ้าหลานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเล็กๆ ก็รักต๋าตาคุณปู่มาก เดี๋ยวนี้มีรวม 6 คนแล้ว คนโตอายุ 15 คนเล็ก 6 ขวบ ไปไหนเจเจ
รับเลี้ยงหมด ไปเชียงใหม่ทีไรพาไปฟาร์มงู จนงูจำหน้าได้หมดแล้ว”
พร้อมหน้าครอบครัว คุณหญิง ลูกๆ ทั้ง 4 เขย-สะใภ้ และ หลานทั้ง 6 ในวันเกิด ดร.ชิงชัย
ทั้งนี้เพราะอาจารย์ชิงชัยไม่มีบุตร คุณหญิงบอกว่าเมื่อแต่งงานก็ได้ 'ครอบครัวสำเร็จรูป' มีทั้งลูกและหลานในคราวเดียวกัน ดร.ชิงชัยเล่าไว้ในนิตยสารคู่สร้างคู่สมปี พ.ศ.ว่า 2554
“หลานยายของคุณหญิงก็ติดผม จนบางครั้งมากกว่าติดคุณหญิงเสียอีก คงเป็นเพราะผมเป็นคนรักเด็ก ชอบตามใจเด็ก เพราะผมเองไม่มีลูก ไม่มีหลาน พอมาเจอหลานยายของคุณหญิง ผมเลยทั้งรักทั้งหลง (หัวเราะ) ผมรักหลานคุณหญิงทุกคน แต่คนละแบบ เพราะแต่ละคนมีจุดที่น่ารัก พิเศษแตกต่างกันไป เปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ที่เป็นคนโปรด คือลูกของลูกคนสุดท้อง ของคุณหญิง เขาเกิดวันเดียวเดือนเดียว (25 กรกฎาคม) กับผม อายุเพิ่งขวบกว่า ผมติดเขาแจเลยครับ ”
คุณหญิงกับหลานๆ ทั้งห้า ภาพนี้ขาดหลานชายคนโต
คุณหญิงกับหลานชายคนโต คุณไท หลีอาภรณ์
หลังแต่งงานกันมาครบ 23 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2563 คุณหญิงให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตคู่ไว้ว่า
“ดีมาก Happy มาก คำว่า Happy มันคนละแบบกับหนุ่มสาวนะคะ คือมัน Happy เย็นๆ สบายๆ แล้วนี่ก็เป็นโรคชอบหายตัวไปปฏิบัติธรรม สมัยก่อนที่แข็งแรงนี่ไปเรื่อยเลย เขาก็ยอมนะคะ เราก็ไปอยู่คนเดียวอะไรต่ออะไร ตอนหลังๆ ที่ไม่อยากให้ไปก็เป็นเพราะสุขภาพ เป็นความสัมพันธ์ที่ผูกพันแต่ไม่ผูกมัด แล้วเราก็บอกว่าถ้าป้าตายก็เชิญแต่งงานใหม่ได้เลย ใช้สิทธิ์ได้
"อีกอย่างเราไม่รู้ว่าใครจะตายก่อน แล้วจะตายวันไหนก็ได้ คล้ายๆ เราก็ยอมรับว่า เราคนใดคนหนึ่งก็ต้องอยู่คนเดียวต่อไป สิ่งอะไรที่คิดว่าดีในชีวิตก็ทำไปเลย ถ้าไม่ Happy เราก็แยกกันได้ แต่นี่เรา Happy กันมาก ก็เลยโอเค อีกอย่างที่สำคัญมากคือ ตลกกันทั้งคู่ มีเรื่องหัวเราะบ้าๆ บอๆ กันเยอะมาก”
ภาพถ่าย เดือนสิงหาคม 2566 คุณหญิงเขียนบรรยายภาพว่า
คนแก่สองคน อายุรวมกัน 165 ปี นั่งรอคิวโต๊ะอาหารเที่ยง ร้านไทยๆ เมนูจานโบราณๆ เปิดเพลงไทย เบาๆ เก่าๆ เนิบๆ หวานๆ เย็นๆ อากาศร้อนหน่อย แต่มีลมเย็นโชยผ่านเป็นช่วงๆ ระยะๆ พอให้ชื่นใจ ต้นไม้แผ่กิ่ง ให้ร่ม บังแดด ทอดเงา หลายต้นตรงนั้นอายุไม่น่าจะต่ำกว่า 10-20ปี
ความชราใช่ไหมหนอ ที่ทำให้เราคอยได้อย่างสบายๆ ไม่มีนัดที่ไหน หิวก็ไม่หิวเพราะการเผาผลาญต่ำ ไม่ต้องการพลังงานมากเหมือนคนหนุ่มคนสาว
“เวลา” ไม่มีความหมายเมื่อใจไม่ร้อนรน จริงไหม
ปลีกวิเวก
แม้จะมีครอบครัวที่อบอุ่นและชีวิตคู่ที่มีความสุข แต่คุณหญิงยังมีช่วงเวลาของการ ‘ปลีกวิเวก’ ซึ่งสืบเนื่องมาแต่ครั้งไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ฯ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน คุณหญิงเล่าไว้ในนิตยสารอิมเมจว่า
“การไปสวนโมกข์ ได้ถอยห่างจากอารมณ์ ความคิดที่เราเคยจมอยู่ ได้เห็นธรรมชาติของความคิด ของความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นโกรธ กลัว อยาก และอื่นๆ ว่ามันไม่มีตัวตน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนลมฟ้าอากาศ มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะรู้สัจธรรม รู้ด้วยใจ รู้โดยอัตโนมัติ แต่เรามักจะชินกับการคิด เสียจนละเลยศักยภาพนั้น ละเลยเสียจนคิดว่าไม่มีส่วนนั้น
คุณหญิงเมื่อครั้งไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์
“ตอนที่ไปสวนโมกข์น่ะ ทุกข์สุดๆ เดี๋ยวนี้เห็นแล้วว่าปัญหามันก็แค่ปัญหา การคิดที่มี ‘กู’ กับ ‘ของกู’ เป็นศูนย์กลางสิที่ทำให้ทุกข์สุดๆ… รู้แล้วว่าปัญหาน่ะต้องแยกให้ออก ระหว่างตัวปัญหาที่มาจากข้างนอก กับอารมณ์โกรธ กลัว เกลียด โหยหิว สารพัดในใจเรา ต้องเคลียร์ความยุ่งเหยิงข้างใน ด้วยการถอยห่างออกมามองด้วยใจให้เป็น แล้วจัดการกับปัญหาเท่าที่ทำได้ โดยไม่ทิ้งเชื้อให้ปัญหาใหม่ๆ งอกตามมาเป็นทิวแถว
“ก่อนอื่นหยุดโทษคนอื่น แล้วก็หยุดโทษตัวเองด้วย อย่ามัวแต่โทษสิ่งภายนอกจนไม่ได้จัดการกับทุกข์ ซึ่งไม่ได้อยู่ข้างนอกสักหน่อย อยู่ที่ใจเราต่างหาก… หยุดคิดเรื่องไม่มีทางออก…เอาละ ถึงสภาพภายนอกเรายังหาทางแก้ไม่ได้ จัดที่จัดทางให้ใจเราก่อน เริ่มจากการรู้ตัวในปัจจุบัน ถอยออกมาดูความคิด ดูมันเหมือนไม่ใช่ของเรา มันจะหยุด แล้วก็เริ่มใหม่ ก็ดูมันอีก
“ถ้าเรารู้จักมองทุกข์ ใจจะมีวุฒิภาวะขึ้น...ใจเย็นๆ ทำได้แป๊บๆ ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อยๆ มันก็เก่งขึ้นเอง ไอ้แป๊บๆ ก็ไม่เสียหาย มันก็ทำให้รู้ธรรมชาติของใจว่ามันบังคับไม่ได้ ของเรายังอย่างนี้ จะไปบังคับของคนอื่นเขาได้อย่างไร
“เวลามีปัญหา ชาวตะวันตกมักจะบอกว่า do something แต่ในทางพุทธ ถ้าไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็ลองหยุด ลองไม่ทำอะไรดูซิ ไม่ใช่แบบง่อยนะ แต่เอาใจถอยห่างจากความเป็นฉัน ความต้องการของฉัน ความรู้สึกของฉัน”
หนึ่งในสถานที่ปลีกวิเวก
ด้วยเหตุผลการของได้อยู่กับตัวเองและจัดแจงจิตใจ คุณหญิงจึงมักจะหาเวลาปลีกวิเวกในวาระและสถานที่ต่างๆ หลากหลาย อาทิ บนหิมาลัย ไปอยู่คนเดียวในปราสาทโบราณอายุ 200 ปีที่อังกฤษ และเมื่อ ดร.ชิงชัยได้รับเชิญเป็นวิทยากรในยุโรป คุณหญิงนัดเจอที่อังกฤษและขออยู่ต่ออีก 10 วัน ในกุฏิไม้หลังเล็ก ตั้งโดดเดี่ยวอยู่บนเขาในป่าที่ Chithurst
“ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีส้วม เข้าป่าเอา ลงมาอาบน้ำที่บ้านผู้หญิงวันละครั้ง อาหารมื้อเดียว เอากะละมังเดินลงมาตักที่วัดซึ่งห่างออกไปกิโลฯ กว่า แล้วลุยป่าไปนั่งกิน วันหนึ่งๆ ก็เดินเข้าในป่ารวมแล้ววันละหลายๆ กิโลฯ ถามว่ากลัวไหม เกือบจะไม่เลยนะ ฝึกมาให้รู้จักความกลัวว่าเป็นแค่อาการหนึ่งของใจ มันขยับเข้ามา ก็ ‘ฮัลโล’ กับมันซะ มันก็หาย”
แม้อาจารย์ชิงชัยบ่นว่า “ไม่รู้อยู่เข้าไปได้อย่างไร” แต่คุณหญิงยืนยันว่า “ไม่รู้สึกลำบาก เฉพาะกุฏิบนเขาที่อังกฤษมาพักครั้งนี้ครั้งที่ 3 แล้วค่ะ ถ้าต้องไปอังกฤษอยู่แล้ว ก็ขอปลีกมา วันๆ ก็ใช้ชีวิตขั้นพื้นฐาน เมื่อรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัว ดิน ฟ้า น้ำ ต้นไม้ นก แมลง กระต่ายป่า หมาจิ้งจอก อยู่อย่างนั้น ใจรู้เลยว่า เส้นคั่นระหว่างชีวิตกับความตายมันบางมาก จะเอาอะไรกันนักกันหนา ทำให้ใจอิสระ ไม่กลัว ไม่เหงา ไม่เบื่อ ”
เมื่อปี 2563 คุณหญิงเขียนเล่าเรื่องการปลึกวิเวก ไว้ใน Facebook Chamnongsri Hanchanlash (https://www.facebook.com/chamnongsri.hanchanlash?locale=th_TH ) ว่า
ป้าได้รับคำถามตลอดมาตั้งแต่สาวจนแก่งอม ว่า “ทำไมถึงได้ชอบการอยู่คนเดียว” วันนี้จะขอเอาคำที่ป้าเคยตอบ นิตยสารรายปักษ์ ชื่อ “ซีเคร็ท” หรือ “Secret” ฉบับ วันที่ 10 เมษายน พศ. 2553 (นับถอยกลับไปจากวันนี้ได้ 10 ปีกับอีก 7 วัน พอดีๆ) ทั้งนี้เพราะอยู่ๆ ก็ไปพบนิตยสารฉบับนี้ วางอยู่
“…อยู่กับคนอื่นก็ชอบค่ะ เป็นความสุขคนละแบบ เวลาได้อยู่คนเดียวในธรรมชาติ ความรู้สึกจะนิ่ง นุ่ม จะรู้สึกสบายกับทั้ง ‘เพื่อนใน’ (ตัวเอง) และ’เพื่อนนอก’ (ธรรมชาติรอบตัว) ธรรมชาติภายนอกเป็นไปตามวิถีของเขา ไม่ว่าจะมีเราหรือไม่ ต้นไม้ มด แมลง มันสนใจที่ไหนว่ายายคนนี้เป็นใคร ความเป็นจำนงศรีก็หมดความหมาย ปล่อยใจให้โล่ง เบา เป็นอิสระ….
เวลาอยู่คนเดียวในธรรมชาติอย่างนั้น ประสาทสัมผัสจะละเอียด ใส ไว ปัจจุบันขณะจะคมชัด ต้องลองเองถึงจะรู้
ดิฉันปลีกไปเป็นระยะๆ ที่โน่น ที่นี่ 4-5 วัน 1 อาทิตย์ 2 อาทิตย์ หรือนานกว่านั้นได้ยิ่งดี …
มีครั้งหนึ่ง ได้ไปอยู่คนเดียวเลยในคฤหาสน์โบราณอายุ สองร้อยกว่าปี…. ไปอยู่ราวๆ 7 วัน..”
………………………………………………………………..
ขออธิบายใน FB โพสต์นี้ว่า คฤหาสน์ (Manor House) โบราณใน Devonshire ประเทศอังกฤษที่พูดถึงนั้นมีชื่อว่า Sharpham House
เท่าที่จำได้จากการอ่านประวัติศาสตร์ที่ป้าพบในตัวบ้านระหว่าง 7 วันที่พักอยู่ในนั้น มีการระบุว่า estate นี้พระราชทานโดย Queen Ann เป็นรางวัลชัยชนะในสมรภูมิการรบทางทะเลใน Spanish War of Succession
แต่ตัวบ้านมาเริ่มสร้างภายหลัง คือใน ค.ศ. 1770 (พ.ศ. 2313) ถ้านับถึงวันนี้ก็อยู่มานานถึง 253 ปี ตอนที่ป้าศรีไปปลีกวิเวกเขาอยู่ตรงนั้นมาแล้ว 225 ปี ตัวเราอายุน่าจะประมาณ 55 ปี (นับย้อนหลังไป 27-28 ปี) เป็นหม้ายแล้ว แต่ยังไม่พบลุงเจเจ
Sharpham House ตั้งอยู่ใน Sharpham Estate ซึ่งมีอาณาบริเวณถึง 550 เอเคอร์ (ประมาณ 2,400 ไร่) มีไร่องุ่น แต่คงไม่ใช่ไร่ที่ผลิตไวน์ชื่อ “Sharpham House” ซึ่งเป็นไวน์ที่ได้รับรางวัลมาหลายรางวัล เท่าที่ทราบ winery and vineyards ของไวน์ “Sharpham House” อยู่แยกออกไปที่เมืองใกล้ๆ กันใน Devonshire
Sharpham Estate อยู่ข้างหมู่บ้านจิ๋วๆ ชื่อ Asperington และไม่ไกลจากเมืองเล็กๆ ชื่อ Totnes ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ยุค Medieval
Totnes ขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นของศิลปินอินดี้สารพัดแขนง ไม่มีห้างสรรพสินค้า ไม่มี supermarket ไม่มีร้านกาแฟหรือร้านอาหารประเภทสาขา มีแต่ร้านเล็กๆ ที่เป็นของส่วนตัวแต่ละเจ้าของ มีบริการด้านสุขภาพทางเลือกสารพัด เป็นเมืองที่เข้าสไตล์ป้าศรีเป็นยิ่งนัก ทั้งนี้เพราะป้าเป็นมนุษย์อินดี้โดยธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด
Sharpham House มีห้องทั้งหมดรวม 26 ห้อง นอกจากห้องนอนแล้ว ก็มีห้องสมุด ห้องประชุม ห้องอาหาร ห้องโถง ห้องอาหารสำหรับรับแขกที่มีโต๊ะยาวงดงาม ฯลฯ ทั้งนี้ไม่นับห้องของบริวารเป็น cottage หินที่อยู่ข้างสวนครัว
ในช่วงวิเวกของป้าศรีนั้น Maurice Ash ผู้เป็นเจ้าของ Sharpham Estate ทั้งหมด ได้สั่งให้บริวารไปเที่ยวที่อื่นกันหมด ไม่ให้เหลือแม้กระทั่งคนเดียว
วันที่ป้าศรีไปถึง ก็ได้พบสามีภรรยาชาวอังกฤษที่ดูแลบ้าน เขาแนะนำให้ขึ้นไปนอนชั้น 3 เป็นห้องขนาดกำลังพอดี แต่ไม่มีห้องน้ำเพราะยุคสมัยของการสร้าง แต่เจ้าของปัจจุบันได้ดัดแปลงห้องๆ หนึ่งบนชั้น 3 ให้เป็นห้องน้ำห้องส้วม จากห้องนอนไปห้องน้ำต้องเดินตามระเบียงโค้งผ่านรูป portraits ของในอดีตชน จำได้ว่าเรื่องเดินไปทำธุระในห้องน้ำตอนดึก แล้วเดินกลับมาห้องนอนนั้น ไม่ใช่เรื่องชิวๆ เลย ถือเป็นการฝึกสติอย่างเข้ม
ดีหน่อยที่ 2 คนนี้ยังอยู่ใน cottage ของเขาในคืนแรก เช้าวันรุ่งขึ้นก็หิ้วกระเป๋าออกไป ป้าถามขอกุญแจบ้าน กุญแจห้อง เขาบอกว่าไม่มีทั้งกุญแจเข้าบ้านและกุญแจห้อง ประตูห้องนอนล๊อคได้ แต่ประตูทางเข้าบ้านก็ไม่มีล๊อค… อ้าวงั้นใครก็เข้ามาได้ซิ …. ก็ใช่… สำหรับเรื่องนี้จะมีเรื่องราวให้เล่ายาวเลย
สำหรับตัว Maurice Ash เองก็เดินทางไปอยู่ที่บ้านพักผ่อนของเขา ที่ทางใต้ของฝรั่งเศส เพื่อที่ป้าศรีจะได้อยู่อย่าง "วิเวก" หรือ "วังเวง" จริงๆ คิดว่าเป็นการทดลองว่า ยายผู้หญิงไทยตัวเล็กๆนี้ จะอยู่คนเดียวได้จริงๆ เหรอ คือว่าฝรั่งไม่รู้จัก “ความเล็กแบบพริกขี้หนู”
พูดถึงอาหารการกินไม่ยากเลย เพราะเจ้าของบ้านมีเสบียงไว้ในครัว เช่น ข้าวสาร ข้าวโอ๊ต cereal และมีสวนครัวปลูกผัก มันฝรั่ง มะเขือเทศ ให้เก็บมาทำอาหารง่ายๆ ส่วนน้ำดื่มก็น้ำก๊อกไง จะยากอะไร หรือบางครั้งก็เดินออกจากตัวบ้าน ผ่านพื้นที่ที่เป็นสนามและพาร์คของ Sharpham House ออกไป สักแค่ กิโลสองกิโล ก็ถึง village inn ของ Everington เข้าไปนั่งกินได้
บางครั้งป้าศรีก็เดินจาก Sharpham House ไป Totnes ตามทางเท้าเล็กๆ ที่คดเคี้ยวเลียบแม่น้ำ Dart River ประมาณ 3 ไมล์ หรือเกือบๆ 5 กิโลเมตร ไปนั่งร้านอาหารเล็กๆ (ที่นั่นไม่มีร้านใหญ่ๆหรอก) หาอะไรกินและซื้อติดมือกลับมา Sharpham House
สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ และไม่มีกล้องถ่ายรูปติดตัวไปให้เกะกะ เพราะไปคนเดียวก็ต้องเดินทางตัวเบาที่สุด ฉะนั้นจึงต้องไปสอยรูปจากอินเตอร์เน็ตมาใช้ประกอบโพสต์นี้
ในสวนอันกว้างใหญ่ที่แผ่ไปรอบตัวบ้าน มีตุ๊กตาหินอ่อนตั้งประดับอยู่ตามสไตล์สวนปาร์คของขุนนางยุโรป เวลากลางคืนป้า(ซึ่งนอนอยู่ในห้องนอนหนึ่งในทั้งหมด 12 ห้องนอน) มองลงมาจากหน้าต่างชั้น 3 ตุ๊กตาหินอ่อนขาวเหล่านี้ จะดูกระจ่างผ่องในแสงจันทร์ เมื่อเมฆลอยผ่านดวงจันทร์ตุ๊กตาจะดูเหมือนเคลื่อนขยับ (จำได้รู้สึกวังเวงดีพิลึก เพราะมองไปรอบๆ ไม่มีบ้านเรือนสักหลัง เลยไกลออกไปเป็นแม่น้ำซึ่งก็มองไม่เห็น) บังเอิญช่วงที่ไปอยู่ที่นั่นเป็นช่วงพระจันทร์สว่าง
Maurice Ash เป็นเพื่อนคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขาเป็นคนอังกฤษมาจากครอบครัวที่มีทรัพย์สินเงินทอง เป็นทั้งนักปรัชญา นักเขียน นักการศึกษา และ Philantropist ผู้รักที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมและเพื่อนมนุษย์อย่างมากมาย ในมณฑล Devonshire ซึ่งตั้งอยู่แถบตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ รวมทั้งเกี่ยวพัน Schumacher College ใน Totnes
ถึงตรงนี้ต้องบอกว่า Ernst Friederik Schumacher (1911-1977)เป็นชาวเยอรมัน-อังกฤษเกิดในประเทศสวิสจบปริญญาโทจาก Cambridge University เขาเป็นเจ้าของปรัชญาว่าด้วย “Small is Beautiful” ซึ่งมองว่าเป็น Buddhist Economics หรือเศรษฐกิจแนวพุทธ ที่จะทำให้โลกคงอยู่ได้อย่างถูกต้องมั่นคงและเป็นสุข
Sharpham House Estate นี้ ปัจจุบันได้ตกเป็นของกองทุน Sharpham Trust ตามความประสงค์ของเจ้าของคนสุดท้าย คือเพื่อน คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ชื่อ Maurice Ash คนนี้ และคุณสุลักษณ์นี่แหละ ที่เป็นผู้ "ท้าทาย" ป้าศรีให้มาอยู่คนเดียวที่ Sharpham House ด้วยคำถามนิ่มๆ ผ่านคุณพิภพ ธงไชย เป็นเชิงว่าได้ข่าวมาว่า คุณหญิงจำนงศรีเขาชอบไปอยู่คนเดียวอย่างวิเวก ตามป่า ตามเขา ถามเขาซิว่า อยากจะไปอยู่ในคฤหาสน์โบราณในอังกฤษคนเดียวไหม (ในสมัยที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือโน่นแน่ะนะ)
ฮ้า จำนงศรี จะเป็นจำนงศรี รึ ถ้าไม่รับคำท้า….…….
รูป จากอินเตอร์เน็ต Sharpham House Sharpham Estate
ในรูปที่ 2 บ้านเล็กขาวๆริมแม่น้ำนั้น เป็นท่าน้ำของ Sharpham Estate ค่ะ
ในยามปลอดภาระและสูงวัยขึ้นนี้ คุณหญิงให้ความสำคัญกับ คุณภาพความคิด คุณภาพความแก่ และคุณภาพความตาย (ยังมีเนื้อหาต่อ ใน สู่ศตวรรษใหม่ (2))
Comments