top of page

กวีไทยในลีลาตะวันตก

จำนงศรี รัตนิน

โดย อักขระ



เรื่องราว 2 เดือนที่ผ่านมา รายการน่าสนใจรายการหนึ่งที่โรงแรมดุสิตธานี จัดขึ้นเป็นรายการประจำของ

ที่นี่ เรียกความสนใจจากบุคคลมากหน้าหลายตากว่าที่เคยผ่านมานั่นก็คือ รายการคืนแห่งศิลปวัฒนธรรม ที่เชิญ คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน กวีไทยผู้ประพันธ์ร้อยกรองเป็นภาษาอังกฤษ และนักอ่านบทกวีคนหนึ่ง ซึ่งคนเป็นที่คุ้นตากันบ้างสำหรับใครที่ติดตามงานด้านนี้อยู่

“ON THE WHITE EMPTY PAGE” คือผลงานบทกวีที่ร้อยเรียงออกมาเป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าผู้ประพันธ์จะยืนยันว่าเป็นอารมณ์รู้สึกที่ออกมาจากวิญญาณของคนไทยคนหนึ่ง

เหตุจากการปรากฏตัวและการซักถามกันถึงความเป็นไปในหัวข้อดังกล่าว เป็นที่สนอกสนใจของหลายๆ คน แต่ด้วยเหตุที่อุปสรรคของการสื่อสารทางด้านภาษา (ซึ่งงานวันนั้นใช้ภาษาอังกฤษล้วนๆ ทั้งที่มีผู้ฟังเป็นคนไทยมากกว่า 90% และผู้บรรยายก็เป็นคนไทยแท้ๆ) จึงยังคงทำให้หลายปัญหาในวันนั้น ยังติดค้างอยู่ในความรู้สึกของผู้ฟังบางคน ที่ไม่สันทัดภาษาต่างประเทศนัก ซึ่งรวมถึง “อักขระ” ด้วย

เหตุนั้นเป็นประการหนึ่งที่นำเรามาพบกับเจ้าของผลงานกวีชิ้นนั้น และอีกเหตุหนึ่งก็คือความน่าสนใจ

ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ ที่มีต่อแนวทางการเสนองานศิลปะในรูปแบบใหม่ ที่นำเอาบทกวีมาผสมผสานเข้ากับสุนทรียะของดนตรี เกิดเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ – กับความสำเร็จของ “มาลัยหลากสี” ที่ผ่านไปคงพอ

เป็นเครื่องยืนยันความจริงข้อนี้ได้พอสมควร

วันที่ 1 กันยายน ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ก็จัดกิจกรรมในทำนองเดียวกันนี้อีกครั้ง และเราก็พบ

กวีไทยในลีลาตะวันตกท่านนี้อีกครั้งหนึ่งในรายการ “สุขสันต์วันกวี” โดยนิตยสาร “หนอนหนังสือ” และนิตยสาร “สกุลไทย”

คุณหญิงจำนงศรี รัตนิน ในอดีตเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ที่หนังสือพิมพ์บางกอกเวิร์ลด์ เริ่มทำงานตั้งแต่อายุเพียง 18 หลังจากกลับจากการใช้ชีวิตนักเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 6 ปี เธอเล่าถึงพื้นฐานทางครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความประทับใจในวรรณคดีไทย—


“คุณแม่เสียตั้งแต่ดิฉันยังเด็กมาก ชีวิตวัยเด็กค่อนข้างจะอิสระ เราสี่คนพี่น้องหาสิ่งที่เราสนใจกันเอาเอง ที่บ้านมีหนังสือเยอะ คุณพ่อเป็นนักอ่าน โปรดเรื่องสามก๊กเป็นพิเศษ (คุณพ่อเป็นนายธนาคาร คุณจุลินทร์ ล่ำซำ) เราอยู่บ้านสวนริมคลองสำเหร่ที่ฝั่งธน คบหาสมาคมกับพวกมดแดง ปลาเข็ม ปูดำ ที่อยู่ตามต้นไม้กับท้องร่อง บ้านมีหนังสือมากก็เลยอ่านมาก เมื่อเล็กๆ คุณยายท่านก็เล่าเรื่องรามเกียรติ์อ่านฉบับรัชกาลที่ 1 ให้ฟังตั้งแต่ยังอ่านเองไม่เป็น มันก็ติดมา พออ่านเองได้ ก็เก็บอ่านเรียบหมด ไม่ว่าจะเป็น อิเหนา ผู้ชนะสิบทิศ พลนิกรกิมหงวน เสือใบ—เป็นเพราะสิ่งแวดล้อม ”

นั่นเป็นทุนเดิมที่ติดตัวเธอมา จนกระทั่งเมื่อได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนที่ประเทศอังกฤษ เธอจึงได้มีโอกาสได้เก็บเกี่ยวเอาความรู้ทางวรรณคดี และศิลปะแขนงอื่นๆ จากดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดนั้นมาด้วย

ในแง่มุมหนึ่งของเธอ นอกเหนือจากเป็นผู้ซาบซึ้งกับรสของวรรณคดี และงานศิลปะแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการละคร ภายนตร์ หรืองานจิตรกรรม เธอก็ยังเป็นคนหนึ่งซึ่งแอบระบายอารมณ์ภายในออกมาเป็นเส้น เป็นสี อยู่เนืองๆ แม้แต่ภาพปกหนังสือรวมบทกวี “ON THE WHITE EMPTY PAGE” นั่นก็เป็นฝีมือของเธอเอง


ในส่วนของงานวรรณกรรม ที่ผ่านมาเธอได้เคยฝากผลงานแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ หลายต่อหลายเล่ม เช่น “ขุนทองจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” เรื่องสั้นรางวัลซีไรท์ของ อัศศิริ ธรรมโชติ “ปณิธานกวี” ของกวีผู้ยิ่งใหญ่ อังคาร กัลป์ยาณพงศ์ เป็นต้น และในรูปแบบอื่นๆ ก็เช่น การจัดรายการวรรณกรรมทางวิทยุแห่งประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา รายการนั้นก็คือ “VOICE AND WAYS OF THAI LITERATURE” เป็นงานที่เจ้าตัวได้ทุ่มเทพลังอย่างมากมายให้กับงานชิ้นนี้ แต่แล้วก็ต้องเลิกราไปเพราะพลังอันมากมายในแต่ละสัปดาห์ที่จะต้องจัดนั้น นานเข้าก็หมดลง


แต่ก็มิใช่เพียงเท่านั้น ในกาละอื่น ๆ ยังได้เห็นผลงานของเธออีกในรูปแบบที่ต่างออกไป เช่น การทำวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ชื่อว่า THE GOLDEN TOUCH OF THAI CRADSMANSHIP (ฝีมือทองของช่างฝีมือไทย) เธอรับเหมาเองทั้งงานเขียนบทและการกำกับ และทั้งหมดที่นำเสนอออกมา เธอมีหลักยึดอยู่เสมอ ที่จะเสนอวิญญาณที่ออกมาทางภาพ ทางเสียง สี และภาษา และเน้นให้ออกมาในรูปแบบของการ “ซึมซาบ” พร้อม “รับทราบ”

หลังจากเลิกอาชีพหนังสือพิมพ์ ชีวิตเธอก็ผ่านเข้าสู่การแต่งงานเมื่ออายุ 22 จากนั้นก็วางมือจากทุกอย่าง ไม่ได้หยิบ ไม่ได้เขียน ไม่ได้อ่าน เวลาของเธอมีเพียงสำหรับคลินิก (รัตนินจักษุคลินิก) และครอบครัว กับเวลาอีกส่วนหนึ่งให้กับการเรียนในขั้นปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจากตรงนี้เองที่นำเธอมาเริ่มต้นกับงานแปลด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมอย่างไม่ได้ตั้งใจ ด้วยการถูกไหว้วานของเพื่อนๆ

เราเริ่มการพูดคุยกับเธอตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ รวมเวลาถึง 2 ชั่วโมง บรรทัดต่อไปจะเป็นคำพูดของเธอเอง จากความคิด ประสบการณ์ และความรู้สึกที่มีต่อการทำงานวรรณกรรมและในฐานะกวีคนหนึ่ง


บทกวีของฝรั่งกับของไทยคุณหญิงเห็นความแตกต่างอย่างไรคะ


พูดถึงร่วมสมัย หรือของยุคก่อน ๆ คะ


ร่วมสมัยก็ได้ค่ะ


แตกต่างแน่นอนค่ะ ไม่ว่าจะท่วงทำนอง มุมมอง แล้วอะไรที่มันอยู่ลึกๆ แต่ก็แตกต่างน้อยกว่าในงานยุคเก่า คิดว่าปัจจุบันกับอดีตแยกกันไม่ได้จริงจังนัก กวีร่วมสมัยแต่ละคนก็สืบอะไรต่ออะไรมาจากกวีในอดีต กวีไทยกับกวีฝรั่งรับมรดกจากอดีตของตัว อดีตที่ยาวเป็นหลายๆ ศตวรรษ ถึงแม้ในปัจจุบัน

โลกจะเล็กกว่าเดิมมาก เพราะการสื่อสารการคมนาคมมันถึงขั้นนี้แล้ว การแลกเปลี่ยนซึมซาบวัฒนธรรมระหว่างตะวันออก ตะวันตกก็มาก กวีฝรั่งในปัจจุบันสนใจปรัชญาและรูปแบบของตะวันออก แต่วิญญาณของงานเขาก็ยังเป็นวิญญาณที่งอกงามจากรากฐานเดิมของเขา ความเป็นไทยของเราก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเขียนงานในรูปแบบใดหรือจะสื่อด้วยภาษาอะไร เราจะรับความคิดและปรัชญาของเขาเข้ามามากแค่ไหน แต่รากจากวัฒนธรรมความคิดในอดีตของเราก็ยังฝังลึก และปรากฏให้เห็นเสมอในงานสร้างสรรค์ที่ว่าคล้ายคลึงกันกว่าในอดีต ก็เพราะการแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดการซึมเข้าหากัน ดีใจนะคะที่อาจารย์เจตนา (นาคะวัชระ) เขียนคำนำหนังสือ “ON THE WHITE EMPTY PAGE” ถึงความเป็นคนไทย (THAI-NESS) และวิญญาณไทยที่ผสมผสานกับส่วนที่เรียนรู้จากต่างประเทศ ที่อาจารย์มองเห็นในงานของดิฉัน


ทราบไหมคะว่า ทำไมจึงออกมาเป็นภาษาฝรั่ง


ไม่ทราบค่ะ ก็มันออกมาอย่างนั้นเอง บางทีดิฉันละเลงสีบนกระดาษ นั้นละเลงด้วยสี นี่ก็ละเลงด้วยตัวหนังสือ แล้วแต่ว่ามันจะมาเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ...บังเอิญมันมาเป็นภาษาอังกฤษ...ก็แปลก

ในเมื่อภาษาไทยเป็นภาษาแม่ อยู่เมืองนอกก็แค่ 6 ปี ดิฉันอ่านงานไทยมาก ทั้งก่อนที่จะไปอยู่ (ตอนอายุ 12) กลับมาก็อ่านอยู่เสมอ เขียนร้อยแก้วเป็นภาษาไทยก็ไม่ได้เดือดร้อน...เป็นไปได้ไหมว่า สำหรับดิฉันภาษาอังกฤษเป็นภาษาอารมณ์ ภาษาไทยเป็นภาษาคิด ถ้ามีใครช่วยตอบให้ก็จะขอบคุณมาก


แล้วเวลาที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย อย่างที่คุณหญิงเขียนเองแล้วแปลเองด้วย อารมณ์มันได้เท่ากันหรือไม่คะ

ไม่ค่ะ ห่างกันมากเลย ทราบแล้วด้วยว่าทำไม่ได้ดี ไม่ควรทำ...เวลาเขียน เขียนบรรทัดแรก บรรทัดต่อๆ ไปก็ตามมาเอง ไม่เคยทราบล่วงหน้าว่าบรรทัดสุดท้ายจะเป็นอย่างไร มันออกมาตามธรรมชาติ อารมณ์ ความคิด จินตนาการออกมาเองในภาพในจังหวะในทำนองของภาษา เอางานของตัวเองมาแปล รู้สึกคล้ายไปจับลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วมาบังคับให้เกิดใหม่ เป็นอีกคนหนึ่ง แต่หน้าตาเหมือนกัน...มันไม่สนุก ทำไม่ได้ดีหรอก


เกี่ยวกับเรื่องนี้เคยคุย หรือแลกเปลี่ยนกับกวีคนอื่น ๆ อย่างไรบ้างคะ


เรื่องแปลงานตัวเองนี่ไม่เคยคุยล่ะ เคยแต่เรื่องแปลงานของคนอื่น


การแปลงานคนอื่นนี่ก็ยากไปอีกแบบนะคะ


แปลเอาแต่ความหมายไม่ยาก แต่แปลงานกวี ให้ได้ทั้งวิญญาณ เสียง สี ภาพ ด้วยน่ะ ยากเสมอค่ะ จะยากมากยากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบท เวลาเราแปลงานของคนอื่นเราต้องหลุดจากตัวเอง เข้าไปอยู่ในตัวเขาเสียก่อน แล้วจึงจะระบายออกมาให้เป็นงานกวีในตัวของมันเอง กวีแต่ละคนมีท่วงทำนองของตัวเอง เสียงก็ไม่เหมือนกัน อย่างคุณเนาวรัตน์กับคุณอังคารนี่คนละสีคนละสันกันเลย แปลออกมาก็ต้องให้เหมือนแต่ละคน แปลงานกวีนี้มีหลายบทที่ต้องทิ้งไปเลย เพราะอ่านแล้วแห้ง...เหมือนก้อนหิน...เหมือนศพน่ะ มีแต่รูป ไม่มีจิต ทั้งๆ ที่บทกวีเขาสวยเหลือเกิน เวลาแปลต้องอ่านฟังเสียงว่าได้อารมณ์และเสียงของต้นฉบับเดิมหรือไม่


เท่าที่ทำไปแล้วคิดว่าตัวเองทำได้แค่ไหนคะ


คำถามนี้ต้องให้นักวิจารณ์เป็นผู้ตอบมัง สำหรับความพอใจของตัวเอง อยากยกตัวอย่างการแปลงานของคุณอังคาร แปลไป 3 บท ทิ้งเสีย 1 บท บทที่ทิ้งไปเสียงมันออกมาแบน ติดดิน ดิฉันเล่าให้คุณอังคารฟัง ยังไม่ลืมคำตอบของคุณอังคารเลย “ไมเคิล แองเจลโล ก็ยัง FLAT ได้ ” ภาษาฝรั่งเป็นของคุณอังคารนะคะ ดิฉันพูดว่า “แบนติดดิน” (หัวเราะ) คุณอังคารอุตส่าห์ให้กำลังใจโยงเราไปถึง ไมเคิล แองเจลโล โน่นแน่ะ


ถ้าจะพูดถึงการอ่านคนเดียวในใจกับการอ่านให้คนอื่นฟังเป็นอย่างไรบ้างคะ


อ่านในใจ มันเหมือน—ค่อยๆ ลิ้ม ค่อยๆ ดื่มเข้าไป ได้ยินเสียงและรู้รส รู้อารมณ์ อยู่คนเดียว

อ่านดังๆ ให้คนฟังก็เหมือนกับถ่ายทอดรสชาติออกมาให้คนอื่นได้ร่วมรู้กับเรา เวลาสอนดิฉันคิดว่าลำบาก ถ้าไม่อ่านให้เขาฟัง เพราะว่าบทกวีมันสื่อความหมายด้วย สีสันในเสียง ในจังหวะ ไม่ใช่แค่คำพูด เด็กที่ยังไม่สนใจงานกวี มักจะติดอยู่ที่คำและความหมายตรงๆ เสียงกับท่วงทำนองการอ่านมันเพิ่มมิติ เด็กจะพบว่าเขาซึมซาบทั้งความไพเราะ อารมณ์ และความหมาย ได้โดยไม่ต้องได้ยินคำทุกคำ ถึงจุดนั้นแล้วเขาก็จะสนใจอ่านงาน ที่เขาคิดว่าโบราณ หรือไม่มีความหมายกับชีวิตปัจจุบัน เขาจะพบว่ามันมีความหมาย


การอ่านต้องใช้เทคนิค


ใช้จินตนาการค่ะ อารมณ์ด้วย เทคนิคเป็นส่วนที่ตามมาเอง ความจริงใจสำคัญมากนะคะ รู้สึกกับบทอย่างไร ก็จะอ่านให้มันออกมาอย่างนั้น แต่ไม่เหมือนการแสดงนะคะ ความสำคัญอยู่ที่การสื่องานกวีไม่ใช่ที่แอ๊คชั่น แต่ในการสื่อนั้นสีหน้าและการเคลื่อนไหวมันก็ตามมาบ้าง เป็นส่วนหนึ่งของการสื่องานชิ้นเดียวกันคนละคนอ่าน จะเหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันขึ้นกับความรู้สึกกับการตีความ


ในด้านคนฟัง คิดว่าเขาจะต้องเกร็งเพื่อรับกับอารมณ์ของผู้อ่านบ้างไหมคะ


“เกร็ง” กับ “นั่งติดอยู่กับเก้าอี้” นี่เหมือนกันหรือเปล่าไม่ทราบ คงไม่เหมือน ที่ลอนดอนดิฉันเคยพาคนไปดูละครพูด หลายคนจะร้องว่าฟังไม่ทัน สำหรับบางเรื่องที่มีบทพูดมากกว่าแอ๊คชั่น หลายคนบ่นว่าเกร็ง เพราะฟังไม่ทัน ตัวอย่างละครเรื่องหนึ่งที่ยาว 2 ชั่วโมง เล่นโดยตัวเอก 2 คน เกือบตลอดเรื่องเป็นคนแก่ทั้ง 2 คน นั่งเถียงและเล่นเหลี่ยมกันด้วยคำพูด แฮร์โรลด์ พิ้นเตอร์ เป็นผู้กำกับ เซอร์ แรลฟ์ ริชาร์ดสัน กับ เซอร์ จอห์น กิลกูด แสดงเป็นละครที่วิเศษมาก ดิฉันดู 2 รอบ ติดใจนั่งติดอยู่กับเก้าอี้ ไม่มีทางหรอกค่ะที่จะฟังมันทุกคำพูด เพราะเขาพูดช้าในบางตอน และบางตอนก็เร็วปรื๋อเชียว เหมือนดนตรีที่เปลี่ยนจังหวะอยู่ตลอดเวลา และนั่นแหละคือความพิเศษ ที่ทำให้ดิฉันนั่งติดอยู่กับเก้าอี้ ถ้าเขามาพูดให้เราฟังให้ชัดๆ ทุกๆ คำ งานมันก็ไม่วิเศษอย่างนั้นหรอก มันเหมือนพายุ ที่มีฟ้าแลบ มีฝุ่น ถ้าพยายามนับเม็ดฝุ่นให้ได้ทุกเม็ดก็คงจะต้อง “เกร็ง” อยู่หรอก ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าการอ่านจะเป็นอย่างนี้ไปหมด บางบทก็มีอารมณ์ที่อำนวยให้เราอ่านได้เรียบ ช้า และ ให้ได้ยินทุกถ้อยคำหมดจด ทุกคำพูด มันขึ้นอยู่กับงาน


สรุปแล้วการอ่านให้คนอื่นฟัง และมีดนตรีด้วยก็ต้องยิ่งตั้งใจมากขึ้น


ค่ะ เพราะอ่านตามใจตัวเองไปหมดไม่ได้ ต้องอ่านให้มีความกลมกลืนหรือความขัดแย้งตามที่

คีตกรต้องการให้เป็น ต้องพูดและซ้อมให้เข้าใจกันให้ดี แต่สนุกกว่าอ่านโดยไม่มีดนตรีนะ


ทำไมจึงจะสนุกกว่า


เพราะท้าทายว่า เราตามใจตัวเองทั้งหมดไม่ได้ แต่ฝ่ายดนตรีก็ตามใจเราบ้างเหมือนกัน มีการตีความและสีสันของดิฉันเอง คุณดนูเขาแต่งดนตรีมา เขาก็มีการตีความและสีสัน สื่อของเราก็คนละอย่างกัน แต่จะต้องมารวมอยู่ด้วยกัน ในการเสนองานกวีบทหนึ่ง ดิฉันต้องรับการตีความของคุณดนูมาผสมกัน ถ้าผสมกันไม่ได้ ก็ต้องถือว่าล้มเหลว วันนั้น (1 กันยายน 2531 ที่ศูนย์สังคีตศิลป์) ที่อ่าน “ภูหนาว” ของ

คุณเนาวรัตน์เป็นภาษาอังกฤษก็สนุก มันทดสอบเราว่าภาษาอังกฤษที่แปล จะได้เสียงเหมือนต้นฉบับภาษาไทยของคุณเนาวรัตน์สักแค่ไหน ความสั้นยาวของแต่ละบรรทัดได้จังหวะกับ ของดนตรีภาษาไทยหรือไม่ และเมื่ออ่านมันกลมกลืนกับบทภาษาไทยสักแค่ไหน


เกี่ยวกับงานร้อยแก้วที่หยิบขึ้นมาแปลมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการเลือก


เลือกงานที่ชอบค่ะ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไร...อ้อมีเหมือนกัน คือจะไม่เลือกงานที่มีคนอื่นแปลแล้ว คือถ้าเป็นงานร่วมสมัยจะไม่เลือกงานที่มีผู้อื่นแปลเป็นภาษาอังกฤษ เท่าที่ได้แปลมา เป็นเรื่องสั้นทั้งนั้น กำลังอยากจะแปลนวนิยายสักเล่มหนึ่ง กำลังมองอยู่ เพราะไม่ทราบว่าใครกำลังแปลอยู่หรือเปล่า เป็นงานที่มีภาษาไพเราะ และเป็นงานที่วิเศษมาก ถ้าได้แปลคงค่อยๆ ทำค่อยๆ แตะ ถ้าจะให้แปลอย่างรวดเร็วคงไม่ทำ งานเขาสวยเหลือเกิน อยากจะค่อยๆ ประดิดประดอย การแปลนี้เป็นการสร้างสรรค์ประเภทหนึ่ง ต้องทำด้วยใจรัก ยังไม่อยากบอกชื่อหนังสือเล่มนี้ จนกว่าจะรู้แน่ว่าได้แปล


ในฐานะที่ทำงานกวีออกมา มีความสุขเห็นอย่างไรต่อสิ่งที่เรียกว่า “กลอนเปล่า” ในบ้านเราบ้างคะ


เคยคุยกับเพื่อนๆ เรื่องนี้อยู่เหมือนกัน “กลอนเปล่า” ที่ฝรั่งเรียกว่า “FREE VERSE” เป็นสิ่งใหม่สำหรับเรา การกวีของกวีไทยแต่โบราณ มีธรรมเนียมและรูปแบบฉันทลักษณ์ที่ชัดเจน ฝรั่งเขามีกฎเกณฑ์ในเรื่องของฉันทลักษณ์ แต่ก็ไม่ซับซ้อนอย่างของเรา เขามี “BLANK VERSE” ซึ่งรูปแบบบังคับจังหวะ แต่ไม่บังคับสัมผัสมาหลายศตวรรษ เช็คสเปียร์ใช้ “BLANK VERSE” มาก เมื่อกวีของเขาละกฎเกณฑ์ที่บังคับจังหวะใน “BLANK VERSE” ก็มีวิวัฒนาการมาเป็น “FREE VERSE” ของเขาเป็นวิวัฒนาการ แต่เรารับมาอย่างค่อนข้างฮวบฮาบ อันที่จริง “กลอนเปล่า” เขียนยาก เพราะแต่ละคำต้องมีค่าในแต่ละตัวของมันเอง ในความสัมพันธ์กับบท งานทั้งบท ค่าของคำนั้นมาจากทั้งเสียง ทั้งความหมาย สีสัน และจังหวะ มีค่าขนาดตัดคำใดคำหนึ่งออกไม่ได้เลย โดยไม่มีผลเสียกับงาน ถึงมันจะไม่มีกฎเกณฑ์บังคับสัมผัสและจังหวะ แต่กลอนเปล่าก็มีจังหวะและเสียง ที่สื่อความหมาย อารมณ์บทกวี มันต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างคำกับคำ บรรทัดต่อบรรทัด ที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพและผลงาน ไม่ใช่สักแต่ว่าเขียน แล้วบอกว่า

นี่เป็นกลอนเปล่า


คุณหญิงอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรคะ


บางครั้งก็รู้สึกห่วงทั้งคนเขียนและคนอ่านแต่ก็อีกนั่นแหละ อะไรๆ มันก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคน จะให้เห็นเหมือนกันไปหมดคงจะไม่ได้ สำหรับลูกๆ ดิฉันให้เขาอ่านหนังสือทุกประเภท แล้วก็มาคุยกัน ให้เขามีวิจารณญาณของเขาเอง ดิฉันอาจจะผิดก็ได้นะคะ

สาระที่เต็มเหยียดที่เพิ่งจบลงตรงนี้ คุ้มค่าแค่ไหน ก็แล้วแต่ว่าใครจะอดทนอ่านจนจบได้หรือไม่ แต่สำหรับเราไม่ผิดหวังเลยที่ “ตกลงกันอยู่นาน” กว่าจะได้พบเธอและพูดคุยกันอย่างนี้


 

จาก: คอลัมน์ คนวรรณกรรม นิตยสาร เปรียว ฉบับ 145 ปักษ์หลัง กันยายน 2531

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page